เคราะห์ซ้ำโรฮิงญาถูกแก๊งค้ามนุษย์เรียกค่าไถ่ บางส่วนตายก่อนถึงปลายทาง
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ ไมแกรนท์ เวิร์กกิ้ง กรุ๊ป เปิดข้อมูลชะตากรรมชาวโรฮิงญา เสียเงิน 2 ต่อเพื่อหลบหนีจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ ผ่านไทยมุ่งสู่ประเทศที่สาม แต่กว่าจะถึงปลายทาง หลายคนต้องสังเวยชีวิต เผยแค่ 5 เดือนของปี 2558 เป็นศพไปแล้ว 29 ราย
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ซึ่งเตรียมออกแถลงการณ์ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ใน 1-2 วันนี้เพื่อเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาโรฮิงญาให้ตรงจุด ได้ออกมาเปิดโปงขบวนการนำพาชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ สู่ประเทศปลายทาง มีพฤติกรรมทั้งเรียกเงิน กักตัวเรียกค่าไถ่จากญาติ กระทั่งซ้อมทรมาน จนมีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตก่อนไปถึงจุดหมายปลายทางประเทศที่สามเป็นจำนวนมาก
ยอดผู้เสียชีวิตเท่าที่เครือข่ายฯรวบรวมได้ เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนถึง 29 ศพ ปี 2557 ไม่น้อยกว่า 10 ศพ และปี 2556 ไม่น้อยกว่า 23 ศพ!
นายศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ให้ข้อมูลว่า การอพยพหนีภัยของชาวโรฮิงญาจากเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งมีการปะทะกับชาวไทยพุทธอย่างหนักตั้งแต่ปี 2555 มีความซับซ้อนมาก เพราะในชั้นต้นแม้ชาวโรฮิงญาจะอพยพด้วยความสมัครใจก็จริง แต่ก็ต้องเสียเงินค่าจัดหาเรือคนละไม่ต่ำกว่า 20,000 ถึง 50,000 จั๊ด หรือราวๆ 1,000 บาท ไม่รวมค่าอาหารและน้ำดื่มระหว่างลอยเรือในทะเล ซึ่งต้องจ่ายให้นายหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนำพา
เมื่อเรือเข้าฝั่งที่ประเทศไทย ก็จะมีขบวนการค้ามนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งเข้ามารับตัว ในช่วงนี้เองชาวโรฮิงญาจะถูกกักขัง และถูกบังคับให้ติดต่อญาติเพื่อเรียกเงินเพิ่มหลักหมื่นบาทต่อคนในลักษณะเงินค่าไถ่ตัว ระหว่างนั้นถ้าได้เงินช้า หลายคนก็จะถูกทุบตี ทำร้ายร่างกาย และอดอาหาร บางคนทนไม่ไหวก็เสียชีวิต
ระหว่างทางมุ่งสู่ตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย หากถูกจับกุม ก็จะถูกเรียกเงินอีกต่อหนึ่ง อ้างว่าเป็นค่าเคลียร์คดี ทั้งๆ ที่ตำรวจไทยมักแจ้งข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมีอัตราโทษต่ำ และถ้าไม่มีเงินค่าปรับก็จะถูกผลักดันออกนอกประเทศ
เมื่อถูกผลักดันพ้นราชอาณาจักร ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ไม่สามารถย้อนกลับไปรัฐยะไข่บ้านเกิดได้ จึงจำต้องกลับเข้าสู่ขบวนการนำพาอีกรอบ ขณะที่ในทางกฎหมายก็ไม่อาจหยุดยั้งขบวนการค้ามนุษย์ได้ เพราะไม่มีการสืบสวนขยายผลที่ดีพอ ทั้งๆ ที่มีการจับกุมชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่องทั้งที่จังหวัดระนอง พังงา และสตูล แต่มีเพียงคดีที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 เท่านั้นที่มีการขยายผลกระทั่งพบค่ายพักและหลุมศพชาวโรฮิงญาที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
นายศิววงศ์ ขยายความปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยว่า ได้ติดตามการจับกุมและดำเนินคดีชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ พบความผิดพลาดหลายจุดที่นำมาสู่สถานการณ์ที่ปาดังเบซาร์ กล่าวคือ ที่ผ่านมามีการจับกุมชาวโรฮิงญาได้หลายครั้งในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา สตูล แต่ส่วนใหญ่จับกุมแค่คนขับรถขนชาวโรฮิงญา ไม่มีการขยายผลต่อไปถึงขบวนการนำพา และมีการตั้งข้อหาเพียงแค่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีอัตราโทษต่ำมาก ทำให้ไม่สามารถตัดวงจรของขบวนการนำพาที่นำไปสู่การค้ามนุษย์และแรงงานเถื่อนได้ กลายเป็นการตัดตอนคดีมากกว่า
ประกอบกับเมื่อชาวโรฮิงญาอยู่ในสถานะหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นโยบายของรัฐบาลไทยคือผลักดันออก แต่ประเทศต้นทางของชาวโรฮิงญา คือ เมียนมาร์ ไม่ยอมรับกลับ คนเหล่านี้จึงต้องย้อนกลับเข้าสู่ขบวนการนำพาอีก กลายเป็นปัญหาไม่รู้จบ และชาวโรฮิงญาจากต้นทางหลายๆ แห่งก็ถูกส่งไปที่ปลายทาง คือ พื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย อย่างปาดังเบซาร์ จนเกิดการเสียชีวิตขึ้นดังที่เป็นข่าว
ฉะนั้นทางไมแกรนท์ เวิร์กกิ้ง กรุ๊ป และองค์กรเครือข่ายจึงเตรียมออกแถลงการณ์เพื่อให้ข้อมูลกับสังคมและเรียกร้องให้รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต่อไป
อย่างไรก็ดี ต้องขอชื่นชมตำรวจนครศรีธรรมราช ที่สอบสวนขยายผลอย่างจริงจังกรณีจับกุมชาวโรฮิงญาเมื่อเดือน ม.ค.2558 นำไปสู่การจับกุมเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และเป็นส่วนหนึ่งที่สาวไปถึงกรณีพบศพชาวโรฮิงญาที่ปาดังเบซาร์ แต่เจ้าหน้าที่ในจังหวัดอื่นๆ เช่น ระนอง พังงา สตูล ที่ถือเป็นจังหวัดต้นทางในการรับชาวโรฮิงญาเข้ามา ก่อนนำส่งยังพื้นที่ปลายทางบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียนั้น กลับไม่มีการสืบสวนขยายผลอะไรเลย
นายศิววงศ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การแก้ปัญหาโรฮิงญาค่อนข้างซับซ้อน เพราะชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีสถานะผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถแสดงตัวเพื่อให้ข้อมูลที่แท้จริงที่เป็นประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นรัฐบาลไทยต้องให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาวโรฮิงญา เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พิธีฝังศพชาวโรฮิงญา ที่กุโบร์บ้านท่าไทร ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา