กทม.นำโด่งร.ร.ได้รับผลประเมินคุณภาพการศึกษาระดับดีมาก ทั้ง 3 รอบ
ผลการประเมินคุณภาพสถานศึกษาสมศ.ชี้ มีสถานศึกษาอยู่ในเกณฑ์ระดับดีมาก 10 จังหวัด หวังรัฐบาลใช้ผลวิเคราะห์เพื่อวางแผนปฏิรูปการศึกษา
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผยรายชื่อ 10 จังหวัด คุณภาพ พร้อมสถิติคุณภาพการศึกษาไทย ณ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ชั้น 24 อาคารพญาไทพลาซ่า
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะลุกขึ้นมาปฏิรูประบบการศึกษา ฉะนั้นการที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล ต้องตั้งต้นใช้ผลประเมินของ สมศ. ในการวิเคราะห์ปรับปรุง และปฏิรูปต่อไปในอนาคต ดังนั้นทางสมศ.จะเริ่มทยอยผลประเมินรอบ 3 รอบ 2 และรอบ 1 เพื่อเปรียบเทียบเป็นข้อมูลในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
ดร.ชาญณรงค์ กล่าวถึง ผลการประเมินทั้ง 3 รอบ ใน 15 ปีที่ผ่านมา ว่า มีจำนวนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับการประเมินในระดับดีมากทั้ง 3 รอบ จำนวน 354 แห่ง สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินจำนวน 31,797 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็น 1.11% (จำนวนทั้งหมด 32,936 แห่ง) โดยจังหวัดที่มีสถานศึกษาที่ได้รับผลประเมินจาก สมศ. ดีมากทั้ง 3 รอบ มีจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ มหาสารคาม และยโสธร
ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวถึงการเก็บข้อมูลสถิติการศึกษาไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2557 พบว่าประเทศไทยมีครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประเภททั่วไป) จำนวน 404,263 คน มีนักเรียนทั้งประเทศรวมกัน 8,338,512 คน มีสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งหมด 32,936 แห่ง
"จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มี จำนวนสถานศึกษามากที่สุดจำนวน 1,530 แห่ง ส่วนจังหวัดที่มีนักเรียนและครูมากที่สุดคือกรุงเทพฯ มีจำนวนนักเรียน 824,581 คน และมีครู-อาจารย์ จำนวน 38,438 คน"
สำหรับประโยชน์ของการการประเมินคุณภาพเชิงคุณภาพพื้นที่ ABA (Area-Based Assessment) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ระดับจังหวัด ระดับหน่วยงานต้นสังกัด และระดับสถานศึกษา เพื่อให้ทั้ง 3 ส่วนนำข้อมูลที่ได้ จากการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่แบบ ABA ไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียนส่งเสริมและร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจังหวัด วิเคราะห์และวางนโยบายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาแต่ละระดับ โดยเฉพาะกลุ่มสถานศึกษาที่มีผลการประเมินไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ผลการประเมินจะใช้เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการของเขตพื้นที่
และยังจะเป็นการกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนและกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนา โดยเสนอต่อรัฐบาลในการขับเคลื่อนการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยรัฐบาลและหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนของพื้นที่และจังหวัดต้องมีความสนใจและเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง”
ส่วนการทบทวนแผนยุทธศาสตร์จังหวัดและบรรจุแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไว้ในแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของทุกจังหวัดนั้น ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า จะต้องทบทวนรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาในพื้นที่ให้สอดคล้องกับงานด้านการปกครอง ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลการศึกษาในระดับจังหวัด เพื่อใช้วางแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด เป็นการพัฒนาศักยภาพของแต่ละจังหวัด การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียว ส่วนการประเมินคุณภาพ รอบที่ 4 ของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2559-2563 จะนำระบบการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ ABA (Area-Based Assessment)เพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบประกันคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ ด้วยการนำผลการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดทั้งในระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน ศูนย์การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา