สตง.ชงสนช.ชี้ขาด“ภักดี”ปมถูกร้องลาออกบริษัทยาไม่ทัน 15 วันตามกม.
สตง. ชงหนังสือถึง ปธ.สนช. ชี้ขาด “ภักดี โพธิศิริ” กรรมการ ป.ป.ช. หลังถูกร้องลาออกจาก “บ.องค์การเภสัชกรรมฯ” ไม่ทัน 15 วันตามกฎหมาย ป.ป.ช. ช่วงได้รับโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งปี 49
แหล่งข่าวจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือให้ประธาน สนช. (นายพรเพชร วิชิตชลชัย) เพื่อให้ สนช. ดำเนินการถอดถอนนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วัน อันเป็นการไม่ดำเนินการตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ สตง. ได้รับหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 25 ธ.ค. 2557 ขอให้ตรวจสอบกรณีการจ่ายเงินเดือนและผลตอบแทนให้กับนายภักดี โดยผู้ร้องเห็นว่านายภักดี มิเคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 เรื่อง ให้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มีผลใช้บังคับต่อไป เนื่องจากเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศใช้บังคับ (22 ก.ย. 2549 ครบกำหนด 7 ต.ค. 2549) นายภักดี มิได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมฯ อันเป็นการไม่ดำเนินการตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เมื่อ สตง. จึงพิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วเห็นว่า กรณีนี้นายภักดี มิได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 มีผลบังคับใช้ตามข้อร้องเรียน ดังนั้นอำนาจในการพิจารณาเรื่องสมาชิกภาพของกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอำนาจของ สนช. ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ประกอบมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และเมื่อได้ข้อพิจารณาเป็นที่ยุติถึงสถานภาพของการเป็น กรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ให้แจ้งแก่ สตง. ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2557 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมกับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือถึงนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายภักดี เนื่องจากลาออกจากกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมฯ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และถือว่านายภักดีไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องที่นายสุรพงษ์กล่าวอ้างขึ้นมานี้เป็นเรื่องเดียวกับที่ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงต่อวุฒิสภาแล้ว และในการประชุมวุฒิสภาเมื่อปี 2555 ได้ออกเสียงลงมติไม่ให้นายภักดีพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้นเมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ยุติไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีเหตุจะพิจารณาเรื่องนี้อีก
อ่านประกอบ :
“สุรพงษ์”จี้ปธ.ป.ป.ช.สอบ“ภักดี”ขาดคุณสมบัติ-ยันไม่เกี่ยวคดีจำนำข้าว
ป.ป.ช.ยันไม่มีอำนาจสอบปม“ภักดี” ชี้ส.ว.มีมติไปแล้วไร้เหตุขุดมาถกอีก