ก.แรงงาน รับลูกป.ป.ช.!เจอขรก.เอี่ยวทุจริตจัดหางานตปท.สั่งย้ายทันที
กระทรวงแรงงาน รับลูกมาตรการป้องกันการทุจริตกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศของ "ป.ป.ช." ยันพบ "ขรก."ถูกร้องเรียนเข้าไปมีเอี่ยวสั่งย้ายออกจากตำแหน่งทันที เผยอยู่ระหว่างร่วมมือดีเอสไอสอบสวนคดี ส่วนการดำเนินการบริษัทจัดหางาน ควบคุมให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ อาทิ การเร่งรัดการปฏิบัติงานของคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทยให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันการห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำของกระทรวงแรงงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจจัดหางาน เข้ามาดำเนินงานหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหางานทั้งทางตรงและทางอ้อม
พร้อมระบุว่า ป.ป.ช.ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยกล่าวหาเจ้าหน้าของรัฐมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต รู้เห็นเป็นใจ และเปิดช่องให้บริษัทจัดหางานหลอกลวงคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ ปล่อยให้มีการทุจริตเรียกเก็บค่าบริหารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเกินความความจริง มีนักการเมืองเป็นเจ้าของบริษัทจัดหางาน หรือมีตัวแทนเชิดเป็นเจ้าของแทน โดยใช้อิทธิพล อำนาจหน้าที่ ผูกขาดธุรกิจจัดหาแรงงาน
(อ่านประกอบ : "ปูด "นักการเมือง" ตั้งบ.ผูกขาดธุรกิจจัดหางาน-เรียกสินบน! ป.ป.ช.ชงแก้ทั้งระบบ")
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการนำเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ของ ป.ป.ช. ต่อที่ประชุม ครม. ให้รับทราบดังกล่าว กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยตรง ได้สรุปความเห็นและการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบเช่นกัน
โดยการดำเนินการและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในกระบวนการจัดหางานโดยเคร่งครัด ตามที่ ป.ป.ช.เสนอมานั้น กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ได้กำหนดมาตรฐานการดำเนินการกรณีเกิดการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ทุจริต เช่น ย้ายจากตำแหน่งที่ปฏิบัติอยู่ทันที นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มช่องทางการร้องเรียนข้าราชการ อาทิ กล่องรับความเห็น เว็บไซต์ ดำเนินการกับผู้ทุจริตตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
ส่วนข้อเสนอป.ป.ช. ที่ให้คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีหลอกลวงแรงงานไทยและการค้ามนุษย์ เนื่องจากผู้กระทำผิดมีอิทธิพลโยงใยเป็นเครือข่ายซับซ้อนเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่จะดำเนินการได้ นั้น
กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ได้ร่วมกับดีเอสไอในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และสอบสวนเจ้าหน้าทีที่ถูกร้องเรียนว่าทุจริต
ส่วนการเร่งรัดการปฏิบัติงานของคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทยให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นั้น กระทรวงแรงงาน ระบุว่า อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดนโยบายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยเน้นให้แรงงานต้องได้รับค่าจ้างกว่าทำงานในประเทศ 2-3 เท่า ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตที่ีดี และเพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานแบบรัฐต่อรัฐให้มากขึ้น
ส่วนปัญหาการหลอกลวงนั้น มีการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ป้องกันการหลอกลวงแรงงาน และเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยช่องทางต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับบริษัทจัดหางานนั้น มีการปรับปรุงขั้นตอนวิธีการให้บริการ เช่น การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปฎิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวแทนบริษัทจัดหางานเพื่อป้องกันการทุจริต และให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 โดยเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กระทรวงแรงงานมิได้มีการระบุถึงการแก้ไขปัญหาบริษัทจัดหางานที่ถูกป.ป.ช. ระบุว่า มีนักการเมืองเป็นเจ้าของบริษัทจัดหางาน หรือมีตัวแทนเชิดเป็นเจ้าของแทน โดยใช้อิทธิพล อำนาจหน้าที่ ผูกขาดธุรกิจจัดหาแรงงาน ให้ที่ประชุมครม.รับทราบเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
(ดูมาตรการของกระทรวงแรงงาน เปรียบเทียบกับข้อเสนอ ป.ป.ช. ฉบับเต็มได้ที่นี่ http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2558/993129616.pdf)