“ดร.ชัยวัฒน์”สะท้อนความขัดแย้งยืดเยื้อในสังคมไทย และปชต.ในอุดมคติ
“...ความรู้สึกต่อความขัดแย้งก็เป็นลบมากขึ้นไปเรื่อยๆ กระบวนการที่เรารู้สึกว่าจะแก้ปัญหาได้ก็เสื่อมลงไป นี่คืออันตรายที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วงในสังคมไทยปัจจุบัน”
ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน”ของ“ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” เมื่อเร็วๆนี้ มี “ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมถกเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยในหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ที่สำคัญ อาจารย์ชัยวัฒน์ ยังสะท้อนอาการความขัดแย้งยืดเยื้อในสังคมไทยให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ตั้งคำถามและร่วมกันขบคิด ...สำนักข่าวอิศรา ถอดความและเรียบเรียงเนื้อหา เสิร์ฟเป็นอาหารสมองให้กับคุณผู้อ่านในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้
………………
“ดร.ชัยวัฒน์” เปิดประเด็นด้วยการตั้งคำถามว่า เวลาคิดถึงประชาธิปไตยกลับการเปลี่ยนผ่าน ประเด็นแรกที่อยากชวนให้ท่านทั้งหลายลองคิดคือ shape หรือรูปร่างของการเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่เปลี่ยนผ่านแล้วเป็นอะไร
“shape มีหลาย shape อาจจะเป็นเส้นตรงก็ได้ เส้นลงก็ได้ เป็นวงกลมก็ได้ ของเราถนัดเรื่องวงกลม สำหรับหลายท่านที่ไม่แน่ใจ ในปรัชญากรีกเขาก็เชื่อว่า วงกลมเป็นภาพแห่งสมบูรณ์ ฉะนั้นเราอาจจะอยู่ในโลกที่ดีแล้วก็ได้”
ประเด็นที่สอง เวลาพูดเรื่องประชาธิปไตย ความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยมีหลากหลายซึ่งประมาณกลางศตวรรษที่แล้ว มีนักวิชาการชาวสวีเดนคนหนึ่งนั่งนับนิยามประชาธิปไตยได้ 311 นิยาม เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องประชาธิปไตยคืออะไร ผมคิดว่ามีความแตกต่างกันเต็มไปหมด
ประเด็นที่สามคือ ประชาธิปไตยกับความรุนแรงเกิดขึ้นได้ไหม? มีงานวิจัยหลายงานอธิบายว่าประชาธิปไตยบางครั้งก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของความรุนแรงทางการเมืองเหมือนกัน และมีข้อค้นพบที่สำคัญสำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ เพราะไปเกี่ยวพันกับรายได้ของประเทศ
“ดร.ชัยวัฒน์” กล่าวว่า การเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแปรเป็นความรุนแรงได้ในประเทศซึ่งมี Gross national income ต่ำกว่า 2,700 ดอลล่าร์ คือ รายได้ประชาชาติที่ต่ำมีโอกาสที่ประชาธิปไตยจะเปลี่ยนไปเป็นระบอบอำนาจนิยมได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศพม่า
แต่ปัญหาที่ประเทศต่างๆสงสัยก็คือ รายได้ประเทศไทยสูงกว่า 2,700 ดอลล่าร์ แต่ทำไมถึงกลับไปกลับมา
ประเด็นที่สี่ ประเทศไทยโดนเปรียบเทียบ โดยมีงานวิจัยของสวีเดนที่ผมเล่าให้หลายคนฟัง เขาเปรียบเทียบในประเทศเอเชียตะวันออกบอกว่า ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงในทศวรรษที่ผ่านของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกดีขึ้นทั้งนั้น
ทั้งนี้ เขาแบ่งความขัดแย้งเป็น 3 พวก คือ ความขัดแย้งว่าด้วยอำนาจปัญหาการครองอำนาจรัฐ , ความขัดแย้งเกี่ยวข้องกับปัญหาชาติพันธุ์ และความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาชายแดน
งานวิจัยบอกว่าประเทศแถบนี้ทุกประเทศสถานการณ์ดีขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์มีปัญหากับมินดาเนาแต่สถานการณ์ก็ดีขึ้น บางประเทศมีปัญหาชายแดนในทะเลบ้าง ก็ตกลงได้บ้างในหลายที่
ทว่า มีประเทศเดียวในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเคยดีแต่แล้วต่อมากลายเป็นประเทศซึ่งมีความขัดแย้งทั้ง 3 แบบอยู่ด้วยกัน ทายซิครับประเทศอะไร? น่าอัศจรรย์มากว่าเปลี่ยนไปได้อย่างไร
คือมีหมดเลย ปัญหาใครจะครองอำนาจรัฐก็มี ปัญหาชาติพันธุ์ ปัญหาภาคใต้ หรือปัญหาชายแดนไทย-เขมรก็มี เกิดความขัดแย้งพร้อมกันในประเทศเดียว ซึ่งหลายประเทศมี 1 หรือ 2 แบบ แต่ของเราแย่ลง
นอกจากนี้ ข้อค้นพบที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งพูดไว้ด้วยก็คือว่า ประเทศจำนวนหนึ่งกลายเป็นประเทศ ประชาธิปไตยไม่แข็งแรง มีความรุนแรงมากขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งที่เขาพบจากงานวิจัยคือ ขาดสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบการปกครองที่อยู่ตัว” และ “กองกำลังทหารและตำรวจที่มีวินัย”
พูดง่ายๆคือ สถาบันทางการเมืองต้องเข้มแข็งและสถาบันที่ใช้กำลังต้องถูกควบคุม เงื่อนไข 2 ประการนี้ทำให้หลายประเทศเป็นประเทศซึ่งประชาธิปไตยค่อนข้างจะมั่นคง เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในลาตินอเมริกาจำนวนมาก
“ดร.ชัยวัฒน์” ยังกล่าวว่า ขณะนี้อาการความขัดแย้งของสังคมไทยเป็นลักษณะความขัดแย้งยืดเยื้อ ที่แตกต่างจากความขัดแย้งทั่วไป เนื่องจากตัวของความขัดแย้งเวลายาวนาน จะลากความสามารถของสังคมในการจัดการความขัดแย้งให้เหนื่อยอ่อนไปด้วย และลดความสามารถของสังคมในการจัดการปัญหา
“อาการขององค์กรต่างๆที่อยู่ในสังคมยังทำงานของมันได้ แต่ถ้าทะเลาะกันนานๆขัดแย้งกันนานๆ ก็เหนื่อยหมด ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆในสังคมกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงและหนีไม่ออก คล้ายๆว่าเราต้องอยู่กับอะไรที่เราไม่ชอบ”
“ฉะนั้นความรู้สึกต่อความขัดแย้งก็เป็นลบมากขึ้นไปเรื่อยๆ กระบวนการที่เรารู้สึกว่าจะแก้ปัญหาได้ก็เสื่อมลงไป นี่คืออันตรายที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วงในสังคมไทยปัจจุบัน”
กับประเด็นว่า ทำไมประชาธิปไตยจึงสำคัญ? “ดร.ชัยวัฒน์” ตั้งข้อสังเกตว่า หากอ่านสิ่งที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ แปลไว้ในหนังสือเสรีนิยมกับประชาธิปไตย เขียนโดย NORBERTO BOBBIO เขาถือว่าประชาธิปไตยมีอุดมคติสำคัญ 4 เรื่อง ที่เป็นฐานของระบอบประชาธิปไตย
1. Toleration หรือ “ความทนกันได้” มีความสำคัญเพราะว่าใช้ต่อสู้กับการครอบงำความจริงจากระบอบ เพื่อจะบอกว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เป็นความคิดเห็นที่เราอยู่ด้วยกันได้ แล้วปฏิเสธการใช้กำลัง
2. “การเห็นความสำคัญของสันติวิธี” ผมพูดในหลายเวทีว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่สำคัญ เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ที่สุดทางการเมืองข้อหนึ่งคือ ปัญหาว่าใครควรจะขึ้นมาครองรัฐ
เมื่อแก้ปัญหานี้ผ่านระบบการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการต่างๆ เรื่องก็จบลง แต่กระบวนการของการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหรือการต่อสู้ทางการเมือง ข้อสำคัญคือ ทำให้คนที่อยู่ในเวทีทางการเมืองไม่ใช่ศัตรูกัน ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ
เวลาพรรคการเมืองสู้กัน คำถามคือ เราควรจะมองพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามในฐานะศัตรูหรือมองฝ่ายตรงข้ามในฐานะคู่แข่ง? ซึ่ง 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกัน
หากเราเห็นเป็นศัตรู เป้าหมายก็คือขจัดศัตรู แต่หากเราเห็นเป็นคู่แข่ง เป้าหมายก็คือทำอย่างไรให้เกมส์นี้แข่งกันไปอย่างมีศักดิ์ศรี แล้วเวลาเราชนะ จะเป็นชัยชนะที่มีความหมาย
ฉะนั้น แนวความคิดสันติวิธีไม่ใช่แค่พูดว่าเป็นสันติวิธีหรือไม่เป็น แต่อยู่ที่ว่าทำให้เรามองฝ่ายที่เราจะสู้ด้วยในฐานะใด ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญกว่า
“การเมืองไม่ใช่การจบเกมส์ การเมืองคือการเล่นเกมส์ในกฎ กติกา ลักษณะหนึ่ง วิธีมองไม่ได้มองว่าเขาเป็นศัตรู แต่มองเขาเป็นคู่ต่อสู้และเขาสำคัญกับการมีชีวิตของผม เพราะทำให้เกมส์มีความหมาย และชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ก็จะมีความหมายตามไปด้วย”
3. ระบอบการปกครองประชาธิปไตยมีข้อดีอีกข้อหนึ่ง คือ “ทำให้สังคมฟื้นชีวิตได้” เพราะทำงานบนฐานของความเปลี่ยนแปลง
แม้เวลาเปลี่ยนแปลงความรู้สึกอาจจะอ่อนแอ อ่อนใจ แต่บางครั้งก็กลับคืนมาใหม่ได้ คนก็นำแนวความคิด นำไอเดีย นำเป้าหมายใหม่ๆกลับคืนมาได้ ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง
และประเด็นที่ 4 BOBBIO อธิบายว่า สำคัญมากกับประชาธิปไตยก็คือ ความเห็นว่าคนที่อยู่ในสังคมเป็นพี่เป็นน้อง
อุดมการณ์ฝรั่งเศสพูดถึงเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ความสำคัญของประชาธิปไตยประการหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับความหมาย “ภราดรภาพ” แต่คำถามในประเทศไทยคือ เราให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากไปหรือเปล่า?
โดยลืมไปว่าเงื่อนไขของประชาธิปไตยประการหนึ่งคือ “การสร้างภราดรภาพ” ซึ่งคำถามใหญ่คือว่า จะอยู่กันอย่างไร? โจทย์สุดท้ายของการเมืองการปกครอง จะสร้างสังคมการเมืองที่ดีได้อย่างไร?
“ดร.ชัยวัฒน์” สรุปว่า ประชาธิปไตยก็คือการเคลื่อนไหวของจินตนาการ การเคลื่อนไหวของการทำงาน และการเคลื่อนไหวของการร่วมกันหาทางออกว่า ในที่สุดชีวิตและสังคมจะเดินทางไปทางไหน
“แต่ไม่ว่าจะเคลื่อนหรือเปลี่ยนไปอย่างไร ผมคิดว่าอุดมคติ 4 ข้อนั้น น่าจะเป็นหมุดที่ตอบประชาธิปไตยไว้ อย่างน้อย..เส้นทางที่จะไปข้างหน้าจะได้ไม่ทรมานเกินกว่าที่เป็น เพราะผมว่าเราก็ทรมานกันมาพอสมแล้ว”
ขอบคุณภาพจาก: www.trf.or.th