โรฮิงญา...ชาติพันธุ์ถูกสาป?
มุสลิมโรฮิงญานับล้านค้นพากันหลบหนีจากรัฐยะไข่ เนื่องจากเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกกีดกัน ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติจากเมียนมาร์และบังคลาเทศซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับรัฐยะไข่ ทั้งยังมีสถานการณ์ขัดแย้งกับชาวพุทธในรัฐยะไข่ถึงขั้นใช้อาวุธและเผาที่อยู่อาศัยจนมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องด้วย
โดยวิธีการที่พวกเขาใช้หลบหนีคือล่องเรือจากอ่าวเบงกอล ผ่านทะเลอันดามัน ก่อนแวะพักตามจังหวัดภาคใต้ของไทย และส่วนหนึ่งถูกจับกุมได้ในน่านน้ำไทย บริเวณจังหวัดระนอง
แต่ที่ตกเป็นข่าวครึกโครม คือการพบชาวโรฮิงญาทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ถูกกักตัวอย่างแออัดร่วมพันคนในโกดังย่านปาดังเบซาร์ และด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 จากนั้นก็มีการติดตามจับกุมชาวโรฮิงญาที่หลบซ่อนอยู่ตามป่าเขาได้อย่างต่อเนื่อง นับรวมได้กว่า 1,200 คน
สาเหตุที่ทำให้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาเป็นประเด็นยืดเยื้อ ก็เพราะทางการไทยไม่สามารถผลักดันกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากทั้งเมียนมาร์และบังคลาเทศไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของตน
อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้กรณีโรฮิงญาหลบหนีเข้าเมืองแก้ไขยาก คือการตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ อย่างเช่นล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 ที่ผ่านมานี้เอง ตำรวจภูธรหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช จับกุมรถกระบะ 5 คันที่มีชาวโรฮิงญาอัดแน่นมากว่า 100 คน และมีบางคนเสียชีวิตจากสภาพร่างกายอิดโรย ขาดอากาศและอาหาร
สำหรับประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญา คือชนพื้นเมืองดั้งเดิมของแคว้นโรฮัง (Rohang) ชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน อดีตเคยเป็นรัฐเอกราช ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาร์
รัฐอาระกัน หรือ "ยะไข่" ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเบงกอลทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ มีพรมแดนติดกับบังคลาเทศ ชาวโรฮิงญาใช้ภาษาเบงกาลี-จิตตะกอง นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
อาระกันถูกพม่ารุกรานมาตลอด กระทั่งมาตกเป็นดินแดนของพม่าอย่างสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) เมื่อ "นายพลเนวิน" ทำรัฐประหารและประกาศยกเลิก "รัฐปกครองตนเองอาระกัน" (Arakanese autonomy) นับตั้งแต่นั้นมาอาระกันก็ลุกเป็นไฟ เพราะชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็น "พลเมืองพม่า" เนื่องจากพม่ารับรองเฉพาะชาวอาระกันที่เป็นพุทธ ทำให้พวกโรฮิงญากลายเป็นคนไร้รัฐ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้รับรองความเป็นพลเมืองหรือสัญชาติของชาวโรฮิงญา
ประมาณการณ์กันว่าชาวโรฮิงยาเคยมีประชากรราว 3.5 ล้านคน แต่ปัจจุบันน่าจะเหลือเพียงครึ่ง เนื่องจากตกเป็นเหยื่อทารุณกรรม ข่มขืน ถูกบังคับเป็นแรงงานทาส เรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ บ้านเรือนถูกทำลาย รวมทั้งผลักดันให้พ้นเขตแดน กระทั่งต้องอพยพหลบหนีจากแผ่นดินเกิด ทั้งข้ามไปบังคลาเทศ และล่องเรือเข้าน่านน้ำไทยเพื่อผ่านไปยังประเทศที่สาม
เส้นทางอพยพของของชาวโรฮิงญามีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1.จากชายแดนจังหวัดค๊อกซีสบาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ อ้อมหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย มุ่งหน้าไปทางเกาะนิโคบา ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ส่วนมากเป็นเรือขนาดใหญ่ และเดินทางต่อไปทางทิศตะวันออก เข้าน่านน้ำไทยที่จังหวัดระนอง พังงา
2.จากชายแดนอำเภอมองดอ จังหวัดซิตต่วย (ซิตตะเว) รัฐอาระกัน ของพม่า ผ่านน่านน้ำพม่าภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี เข้าเขตน่านน้ำไทยด้าน จังหวัดระนอง
สำหรับเป้าหมายหลักที่แท้จริงซึ่งกลุ่มโรฮิงญาต้องการเดินทางไป คือประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากรายได้ดี มีงานมาก ประกอบกับมีแนวคิดว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำมาเลเซีย มีความอ่อนตัวในการดำเนินการต่อชาวโรฮิงญา เนื่องจากเป็นมุสลิมเหมือนกัน จึงน่าจะผลักดันให้การรับรองสถานภาพ "ผู้หนีภัยการสู้รบ" ง่ายกว่าประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ในระยะหลังเนื่องจากมีกลุ่มโรฮิงญาที่ต้องการอพยพและย้ายถิ่นเพื่อมาหางานทำมากขึ้นในลักษณะทวีคูณ ทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำพากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไทยและมาเลเซีย โดยจะมีการเรียกเก็บเงินคนละ 20,000-50,000 จั๊ต (ประมาณ 1,000 บาท) เพื่อจัดซื้อเรือพร้อมอาหารและน้ำดื่มในระหว่างการเดินทาง
ส่วนเครือข่ายขบวนการจะได้รับผลประโยชน์จากการขายชาวโรฮิงญาให้กับนายจ้างปลายทางในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยจะมีราคาระหว่าง 50,000-100,000 บาทต่อคน อายุระหว่าง 12-25 ปี!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ชาวโรฮิงญาที่มาเสียชีวิตคาแคมป์พักพิงชั่วคราวซึ่งคาดว่าเป็นของกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ขอบคุณ : ภาพจากมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี ท่งเซี่ยเซียงตึ่ง และทีมกู้ชีพไม้ขม อำเภอสะเดา