นักจิตวิทยาแนะดูแลผู้ประสบภัยพิบัติต้องให้ความสำคัญด้านสภาพจิตใจด้วย
นักจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์ชี้หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติพบผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเครียด แนะการลงพื้นที่ต้องทำวิจัยร่วมงานบริการระบุจะทำให้คนหาผู้ป่วยได้ง่าย
ทุกครั้งหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินอกเหนือจากการบรรเทาทุกข์ทางด้านร่างกาย ทรัพย์สิน แล้ว สภาพจิตใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่อง“บทเรียนจากเนปาลสู่ไทย...รับมือแผ่นดินไหวอย่างไร” ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี4 ถึงผลกระทบที่ตามมาหลังภัยพิบัติ
ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ คือ ภัยสาธารณภัย ภัยพิบัติ วินาศภัย จะเป็นภัยที่เกิดแก่คนหมู่มากเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุก สถานที่อย่างกระทันหันหรือค่อยๆเกิด เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ เกิดความต้องการในสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างรีบด่วนสำหรับผู้ประสบภัย ปัญหาที่เกิดจากสาธารณภัยสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม การเมืองและการปกครอง สาธารณูปโภค คมนาคม ขนส่ง
ศ.พญ.นันทิกา กล่าวด้วยว่า การดูแลภัยพิบัติแบ่งออกเป็นระยะต่าง คือระยะเตือนภัย ( warning phase ) เป็นการป้องกัน การให้ความรู้ มีการประชาสัมพันธ์ ต่อมาคือ ระยะเกิดภัย ( impact phase ) กับ ระยะกู้ภัย ( rescue phase ) การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และปัญหาต่างๆระยะบรรเทาภัย ( relief phase ) และ ระยะฟื้นฟูสภาพ ( rehabilitation phase ) ผลกระทบซึ่งสิ่งที่อยากเน้นคือสาธารณะสุขทั้งร่างกายและจิตใจ
ศ.พญ.นันทิกา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในคนไข้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จะมีความวิตกกังวล อย่างเช่น ถ้าแผ่นดินไหวจะมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และอาจจะกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนไข้บางรายจากภัยสึนามิ กลัวน้ำทะเล กลัวเสียงคลื่น นี่เป็นผลอาฟเตอร์ช็อกจากภัยพิบัติหรือในคนไข้บางรายจะป่วยเป็นโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือเรียกว่า PTSD (Post - traumatic stress disorder) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก คือสภาพจิตใจหลังภัยพิบัตมีภาวะซึมเศร้า จะเห็นได้ว่าคนที่ได้รับผลกระทบ เกิดการสูญเสียทั้งครอบครัวและทรัพย์สิน ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
หากถามว่าโรคเครียดเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พญ.นันทิกา กล่าวว่า เกิดเพราะว่ามีเหตุการณ์ที่บาดเจ็บทางสภาวะจิตใจ กลุ่มอาการของคนที่เป็นPTSD ผู้ป่วยจะคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางคนเป็นโรคนอนไม่หลับ ฝันร้ายและนอนละเมอถึงเหตุการณ์ที่เผชิญ ทำให้เกิดอาการใจสั่น ตกใจ ตัวชาไม่รู้สึกตัว และอีกอย่างคือ มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยง เช่นสัญลักษณ์ที่จะกระตุ้นอาการ อย่างเช่น ผู้ป่วยจากภัยสึนามิ บางคนไม่กล้าไปเดินที่ชายหาด พอได้ยินเสียงคลืนก็จะคิดว่าเกิดสึนามิ พอคิดถึงเหตุการณ์จะทำให้ตกใจหวาดกลัว หรือ ผู้ป่วยที่เฮริคอปเตอร์ตก ภายหลังเห็นพัดลมที่หมุดอยู่บนเพดาน ก็ไม่กล้ามองเพราะจะทำให้นึกถึงใบพัดของเฮริคอปเตอร์ การรักษา PTSD คือการรักษาโดยให้ยากระตุ้นและการทำจิตบำบัด
อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ กล่าวถึงการดูแลสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติว่า การบริหารจัดการทีมวิจัยดีๆจะ เป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาและช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง รูปแบบที่ทำคือเป็นการผสมผสานงานวิจัยกับงานบริการ เป็นวิธีการที่สามารถค้นหาคนไข้ที่ป่วยทางด้านจิตใจได้เป็นจำนวนมากใน เวลาใกล้เคียงกัน ถ้ารอให้คนไข้มาหาทีละคนจะใช้เวลานาน หากลงพื้นที่คัดกรองคนไข้เอง จะได้คนไข้จำนวนมาก ดังนั้นการผสมงานวิจัยจะได้ประโยชน์และจะช่วยลดผลกระทบด้านจิตใจ
ขอบคุณภาพจากไทยเฮลท์