อดีตเลขาฯ สคบ.หวังตั้ง 'องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค' สำเร็จใน รธน.ฉบับปฏิรูป
เวทีสิทธิผู้บริโภคในร่างแรก รธน. อดีตเลขาธิการ สคบ.เผยหากยังอยู่ในกระดาษไม่มีความก้าวหน้า หวังองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถูกผลักดันใน รธน.ปี 58 ‘วินัย ดะห์ลัน’ แนะต้องสร้างกลไกร่าง กม.ปรับดุลสังคม ป้องกันผูกขาด-ป้องกันอำนาจเหลือตลาด-ชดเชยค่าเสียหาย-ชดเชยสินค้าบกพร่อง
เร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดสัมมนา การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภค’ ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
โดยในเวทีอภิปราย เรื่อง ‘สิทธิของผู้บริโภคในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ:ก้าวหน้าหรือถอยหลัง’ นายวินัย ดะห์ลัน เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างแรกรัฐธรรมนูญถือดีที่สุดฉบับหนึ่ง ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับผู้บริโภคในหลายมาตรา เฉพาะคำว่า ‘ผู้บริโภค’ มีถึง 16 คำ แต่ฝ่ายการเมืองและผู้ประกอบการอาจมองเป็นปัญหา เพราะจุดอ่อน คือ ไม่มีคำนิยามหรือกรอบแนวคิดที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เรามีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่ประเทศพัฒนาในปี 2575 ครบ 100 ปี การปกครองระบอบประชาธิปไตย
“ประชาชนต้องมีรายได้เฉลี่ย 1.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ/ปี ธุรกิจสีเทาต้องเหลือน้อย” เลขานุการ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กล่าว และว่าขณะเดียวกันคนรวยกับคนจนต้องมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำแคบลง และทุกคนต้องได้รับการบริการสาธารณูปโภคที่ดี
นายวินัย กล่าวต่อว่า ถ้าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ต้องสร้างแต้มต่อให้ผู้บริโภค ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในระบบดังกล่าว และเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจเกิดการแข่งขัน ซึ่งการทำให้สังคมรุ่งเรืองนั้น ธุรกิจต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยการร่างกฎหมายต่าง ๆ เพื่อปรับดุลในสังคม ป้องกันการผูกขาด ป้องกันการมีอำนาจเหลือตลาด ชดเชยค่าเสียหาย และชดเชยสินค้าบกพร่อง ที่สำคัญ ต้องเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้บริโภค
ด้านนางรัศมี วิศทเวทย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ถูกดองมาตลอด เพราะกลุ่มธุรกิจและทุนไม่ต้องการให้ใครหรือองค์กรใดมีอำนาจคอยสอดส่องความเป็นธรรมให้สังคม เพื่อหวังทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น
ถามว่าสิทธิผู้บริโภคในร่างแรกรัฐธรรมนูญก้าวหน้าหรือถอยหลัง อดีตเลขาธิการ สคบ. ระบุว่า ตราบใดยังปรากฏเนื้อหาในกระดาษรัฐธรรมนูญไม่มีทางก้าวหน้า ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในกระดาษมาตลอด แม้จะมีถ้อยคำพัฒนาเป็นกระบองขึ้น แต่สุดท้ายก็ถูกฉีกกฎหมายไม่ออกมาบังคับใช้เสียที จึงตั้งความหวังจะเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป เพราะกฎหมายที่ดีหลายฉบับมักออกมาในช่วงรัฐบาลพิเศษ
“ต้องเพิ่มเรื่องการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในหมวดการปฏิรูป เพื่อสร้างความชัดเจนมากขึ้น แม้บางคนโต้แย้งว่า มีบัญญัติไว้ในมาตรา 292 และ 295 แล้วก็ตาม” นางรัศมีกล่าว และว่า หากบัญญัติไม่ได้ก็ควรเพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 295 แทน
นางรัศมี กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรา 292 (1) มีเนื้อหาเกือบครอบคลุม แต่จะทำอย่างไรให้ดูแลอำนาจเหนือตลาดได้ และสร้างกลไกดูแลสิทธิพลเมืองตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกแย่งอาชีพทำกินด้วย เช่น คนขายกล้วยปิ้ง คนรับจ้างซักรีด คนขายมะม่วงดอง เพื่อไม่ให้ถูกเบียดเบียนจากกลไกตลาดที่มีอำนาจเหนือตลาด
ขณะที่นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเจ็บป่วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปถือมีความก้าวหน้ามาก โดยที่เกี่ยวข้องกับผู้รับความเสียหายทางการแพทย์ มาตรา 58 (3) วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า พลเมืองซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่งได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ย่อมได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ข้อความข้างต้นสอดคล้องกับการเรียกร้องของเครือข่ายคนไข้ให้มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งเรียกร้องมานานถึง 13 ปี โดยความคืบหน้าล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เกินเดือนมิถุนายน ศกนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลได้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ จะประสบความสำเร็จต้องได้รับแรงขับเคลื่อนจากประชาชนด้วย
ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวด้วยว่า เครือข่ายยังล่ารายชื่อสนับสนุนให้รัฐควบคุมราคากลางในโรงพยาบาลเอกชนในเว็บไซต์ Change ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 294 (4) ระบุให้มีการพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแทพย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ
“ก่อนหน้านี้มีบางคนพยายามนำมาตรา 294 (4) ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราต้องต่อสู้กับกลุ่มทุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จึงต้องช่วยกันเรียกร้องให้มาตรานี้บัญญัติไว้ต่อไป” นางปรียนันท์ กล่าว .