แก้แรงงานขาดแคลน นักเศรษฐศาสตร์หนุนรัฐ-เอกชน ขยายการทำงานผู้สูงอายุ
นักวิชาการชี้แรงงานไทยขาดแคลน ระบุต้องดันนโยบายขยายอายุการทำงาน แนะภาครัฐ-เอกชนทำงานร่วมสู่เป้าหมายเดียวกัน และต้องเป็นนโยบายแบบสมัครใจไม่ใช่ใช้มาตรการบังคับ
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมและขยายอายุการทำงานของแรงงานสูงอายุ ในเวทีนโยบายสาธารณะ “มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ” ณ ศูนย์ประชุมวายุภัค โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ว่า ในต่างประเทศจะมีการสร้างระบบการเงินการคลังโดยเฉพาะในเรื่องระบบบำเหน็จบำนาญการประกันสังคมที่เอื้อต่อการจูงใจให้กับแรงงานสูงอายุในการทำงานต่อ ถือเป็นการปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศในด้านสิทธิประโยชน์ของการเกษียณ
นอกจากนี้ยังมีมาตรการกระตุ้น เช่น มีกองทุนให้กับสถานประกอบการที่มีการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้กับแรงงานสูงอายุ หรือการให้รางวัลสถานประกอบการที่เป็นตัวอย่างในการจ้างงานผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งนโยบายการลดอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานต่อ การรับกลับเข้ามาทำงานใหม่ภายหลังเกษียณอายุ นโยบายประเภทนี้เรียกว่า เป็นการจัดรูปแบบของการส่งเสริมของภาครัฐให้การเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน และถือเป็นการสร้างระบบฐานข้อมูลที่อำนวยความสะดวกทั้งในส่วนแรงงานและนายจ้าง
ดร.ศุภชัย กล่าวถึงกรณีของประเทศไทย ว่า ขณะนี้ไทยประสบกับการขาดแคลนแรงงานในระบบ ดังนั้นการทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนด้วยแรงงานสูงอายุน่าจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้นโยบายของการขยายการทำงานของแรงงานในระบบมีความสำเร็จได้ง่ายขึ้น ดังนั้นในการขับเคลื่อนมาตรการการขยายการทำงานของแรงงานสูงอายุ ควรเป็นไปในรูปแบบแนวทางที่มีการดำเนินการในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ลูกจ้าง กลุ่มและตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้าง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การขยายทำงานผู้สูงอายุของแรงงานในระบบภายใต้ความหลากหลายของอุตสาหกรรม ทั้งนี้นโยบายต่างๆควรเป็นนโยบายในลักษณะของความสมัครใจไม่ใช่มาตรการเชิงบังคับ
“หน้าที่ของภาครัฐ จะต้องจัดทำรูปแบบการขยายการทำงานของผู้สูงอายุในหลายรูปแบบและต้องมีความสอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจและศักยภาพของแรงงานสูงอายุ ซึ่งจะต้องศึกษาระบบการจัดการขยายอายุการทำงานด้วยมาตรการที่มีความยืดหยุ่นอย่างเป็นระบบ มีความครอบคลุมในอุตสาหกรรมที่กว้างขึ้น และมีความลึกในรายละเอียดของประเภทงาน”
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการขยายอายุการทำงานของแรงงานต้องมีการยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการให้ความสำคัญและเป็นแกนนำในการนำเสนอภาพที่ถูกต้องต่อสังคม ซึ่งการทำต้นแบบของสถานประกอบการจะเป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินการและใช้เป็นต้นแบบตัวอย่างในการสร้างแพลตฟอร์มของแนวทางในการขยายอายุการทำงานในทางปฏิบัติได้
ขอบคุณภาพจากสสส.