"ประจักษ์ ก้องกีรติ" วิพากษ์ร่างรธน. ประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม?
“...บทเรียนหนึ่งที่พอจะสรุปได้จากการศึกษาเปรียบเทียบทั่วโลกก็คือ การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยากที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตยได้ สังคมไทยวนเวียนอยู่กับสิ่งหนึ่ง เหมือนเป็นสังคมที่ไม่มีการเรียนรู้ คือวนเวียนอยู่กับการใช้วิธีการผิดๆมาแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ”
“ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกผลงานเขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อ "ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน” เป็นงานรวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารกันยายน’49 มาจนถึงก่อนรัฐประหารพฤษภา’ 57
ล่าสุด คณะทำงานโครงการสัมมนา เผยแพร่ จัดการองค์ความรู้และสื่อสาร สาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ฟ้า เดียวกัน จัดงานเปิดตัวหนังสือผ่านงานเสวนา “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย” ไปเมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา
“ดร.ประจักษ์” เจ้าของหนังสือ เล่าว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบทความที่เขียนขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บางชิ้นเขียนตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 ส่วนชิ้นล่าสุดที่รวบรวมไว้คือบทปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ว่าด้วยความไม่เสมอภาค เมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว
ส่วนที่เพิ่งเขียนเสร็จและยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อนคือ วิเคราะห์การเลือกตั้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งพยายามวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่สำหรับผมถือว่าเป็นวิกฤตที่รุนแรงมาก เพราะสะท้อนถึงคนที่มีฐานะและมีการศึกษาสูงพอสมควร มาถึงขั้นที่ ปฏิเสธสถาบันประชาธิปไตยแบบที่ใช้ๆกันอยู่ เป็นวิกฤตที่ลึกซึ้ง
ผมชอบบอกกับนักศึกษาว่า พวกคุณเป็นรุ่นที่ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย นักศึกษารุ่นปัจจุบันอายุ 19, 20, 21 ผมบอกว่าสมัยผม กว่าจะได้มีโอกาสเห็นรัฐประหารครั้งแรกประมาณ ม.6 คือ รัฐประหารปี 2534
แต่นักศึกษารุ่นปัจจุบันอยู่แค่ ม.1 ม.2 ก็เห็นรัฐประหารครั้งแรกแล้วในปี 49 เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ก็เห็นรัฐประการอีกครั้ง อายุแค่ 20 เท่านั้น แต่ผ่านรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้ง
ผมก็ถามนักศึกษาว่า คุณคิดว่านี่จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายหรือไม่ ในห้อง 100% ทุกคนบอกว่า ไม่ใช่ เขามีความหวังอย่างยิ่งว่าในชีวิตนี้เขาคงได้มีประสบการณ์อีก ได้เห็นการรัฐประหารอีก
“ดร.ประจักษ์” ชี้ว่า นี่คือเสียงสะท้อนสิ่งที่หลายท่านพูดถึงลักษณะความวนเวียน วงจรที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ประชาธิปไตยของไทยจริงๆแล้วคล้ายกับชิงช้าสวรรค์ คือ เรานั่งขึ้นไป แล้วเราคิดว่ามันจะสูงไปเรื่อยๆ แต่พอถึงจุดที่สูงสุด มันก็วกกลับมาใหม่
มีแนวคิดหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ นักรัฐศาสตร์ศึกษาเรื่องประชาธิปไตย ทุกคนก็จะพูดแต่เรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เราเชื่อว่าการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นเส้นตรง คือ มีจุด A ที่สังคมปกครองด้วยระบอบโบราณ ระบอบเผด็จการ ที่คนกลุ่มน้อยมีอำนาจ
และเมื่อเวลาผ่านไป สังคมก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ก็ค่อยๆเคลื่อนตัวจากระบอบเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตยในท้ายที่สุด เหมือนเป็นเส้นตรง เชื่อว่ามีถนนที่เป็นเส้นตรงที่เราขับไปเรื่อยๆ แล้วจะไปสู่จุดหมาย
เป็นแนวคิดที่มีการมองกันมาโดยตลอด ทำให้เวลาศึกษา นักรัฐศาสตร์หรือผู้สนใจประชาธิปไตยก็ตั้งคำถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ พยายามค้นหาปัจจัยเหล่านั้น และเชื่อว่าหากเจอปัจจัยเหล่านี้ แล้วมาปลูกสร้างในสังคม ก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปรากฏสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก หนทางไปสู่ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเส้นตรง กระทั่งว่าบางสังคมไม่เคยได้มีโอกาสลิ้มรสกับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ เดินๆไป ก็เลี้ยววกกลับมาที่เดิม
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงหลังจึงเกิดการศึกษาที่ตั้งคำถามแบบใหม่คือ แทนที่จะถามว่าเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างไร คำถามที่เกิดขึ้นในการศึกษาประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมถึงสังคมไทยคือ ทำไมสังคมเหล่านี้ระบอบที่เรียกว่าเผด็จการอำนาจนิยมถึงอยู่ยั้งยืนยง
คือเลิกถามเรื่องประชาธิปไตย แต่ถามว่าทำไมระบอบเด็จการถึงเก่งจังในการปรับตัวและสามารถครองอำนาจอยู่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน พอตั้งคำถามแบบนี้ โจทย์คำถามก็เปลี่ยนไป
“ดร.ประจักษ์” เห็นว่า สังคมไทยอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามแบบนี้บ้างแล้วในหลักสูตรการเรียนการสอนอาจจะต้องมีวิชาพวกเผด็จการศึกษามากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าศึกษาแบบเด็จการนะครับ แต่ศึกษาระบอบเผด็จการว่ามันทำงานอย่างไรจริงๆ ซึ่งสังคมไทยยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้
เวลาพูดถึงประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ตาม ปัญหาของสังคมไทยก็คือ เราพูดสิ่งเหล่านี้บนฐานข้อเท็จจริงค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยมีมุมมองเชิงเปรียบเทียบ ไม่ได้มีมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้สังคมไทยมีแนวโน้มทึกทัก เข้าใจไปเองว่าประเทศไทยเป็นอย่างนี้
ระบอบปกครองประชาธิปไตยคือแบบนี้ ระบอบการปกครองแบบเผด็จการคือแบบนี้ แล้วเวลาพูดถึงการปกครองประเทศอื่นก็พูดแบบผ่านๆ อันตรายที่มันเกิดขึ้นเวลาเราไปนำระบอบการเลือกตั้งประเทศอื่นมาใช้ เราก็ไปหยิบมาใช้แบบง่ายๆ
เหมือนตอนนี้เราเอาระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างรุนแรงก็คือ เรามองสิ่งต่างๆแบบตัดตอน แล้วเรามองสังคมไทยแบบตัดตอนเหมือนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกด้วย ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเองเท่านั้น
ในแง่นี้ มีคนบอกว่าเป็นวิกฤตของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนดุลอำนาจครั้งใหญ่ เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมการเมืองครั้งสำคัญ แต่ผมคิดว่าที่สำคัญที่สุดคือวิกฤตทางความคิด
วิกฤตครั้งนี้ ลึกที่สุดคือวิกฤตทางความคิด โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษาจำนวนมากที่มีมายาคติมากมายเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย
“ดร.ประจักษ์” อธิบายว่า ในสังคมไทยประชาธิปไตยน่าสนใจ เพราะโดนโจมตีอยู่ตลอดเวลา ประชาธิปไตยกลายเป็นผู้ร้าย พูดถึงประชาธิปไตยก็มีภาพของสิ่งเลวร้ายของการเป็นยักษ์ มาร ปีศาจ เป็นระบอบการปกครองที่ดูชั่วร้ายมาก ซึ่งถามว่าประชาธิปไตยมีข้อบกพร่องมั๊ย มีครับ ในประเทศทั่วโลกที่ใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย
แต่ในสังคมไทยสิ่งที่น่าประหลาดก็คือว่า เวลาพูดถึงประชาธิปไตย คนตั้งคำถามเยอะ ระแวดระวังสงสัย แต่พอพูดถึงการปกครองแบบอำนาจนิยมหรือเผด็จการ คนกลับตั้งคำถามน้อย ระแวดระวังสงสัยน้อย
พูดง่ายๆคือเราใจดีมากกับระบอบเผด็จการ เราใจร้ายมากกับสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย หากชนชั้นกลางไทยหรือนักวิชาการไทยผู้มีการศึกษาหรือนักปฏิรูปทั้งหลายตั้งคำถามกับระบอบอำนาจนิยมเผด็จการ
แล้วตรวจสอบระบอบนี้อย่างเอาจริงเอาจัง อย่างเข้มข้น ถี่ถ้วน ในระดับเดียวกับที่ตรวจสอบระบบประชาธิปไตย ผมว่าบ้านเมืองเราคงเจริญ และไม่ต้องวนเวียนอยู่แบบนี้
“ดร.ประจักษ์” กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาผมตั้งคำถามมาโดยตลอด เหมือนกับว่าในสังคมไทยมันมีแนวคิดอันหนึ่งคือเรื่อง “เผด็จการโดยธรรม” คือเมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นเรื่องประชาธิปไตยเป็นคนหมู่มาก มันจะเลอะเทอะ สับสน วุ่นวาย
ฉะนั้น ปกครองแบบเผด็จการดีกว่าเพราะมีสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการโดยธรรมคือ เป็นคนกลุ่มน้อย มีติปัญญาสูงกว่าเพื่อนร่วมชาติที่เหลือ กระทั่งว่าอาจจะมีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่งกว่า แล้วเราปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือคนเหล่านี้ก็พอ
แล้วเราก็รอจะรับผลผลิตดีดีทั้งหลาย จากการใช้อำนาจของคนกลุ่มนี้ ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นความคิดที่ฝังรากลึกมาก เลยทำให้ระบอบที่มีลักษณะเป็นอำนาจนิยมเผด็จการจึงสามารถอยู่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
เพราะมีรากฐานทางความคิดบางอย่างที่รองรับระบอบแบบนี้อยู่ ไม่ใช่เพียงเรื่องโรงสร้างเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น
“ดร.ประจักษ์” สรุปว่า สิ่งที่ได้พยายามทำในหนังสือเล่มนี้ คือ การเสนอมุมมองเชิงเปรียบเทียบและชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในสังคมไทยได้เกิดขึ้นมาแล้วในสังคมอื่น แล้วสังคมอื่นเขาแก้ปัญหากันอย่างไร สังคมไทยสามารถเรียนรู้อะไรจากเขาได้บ้าง
ผมเห็นว่า ทั่วโลกมีวิกฤตประชาธิปไตย หรือพูดกลับกันคือประชาธิปไตยทั่วโลกมีวิกฤต เผชิญกับความท้าทายมากมาย มีคนตั้งคำถามกับระบอบประชาธิปไตยเยอะ แม้แต่ในประเทศทีประชาธิปไตยตั้งมั่นแล้วทั้ง อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน สแกนดิเนเวีย
ไม่ใช่ว่าทุกคนแฮปปี้กับสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐสภา แต่ประเทศอื่นเขาใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตยไปแก้ปัญหาวิกฤตประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามว่าไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคม ประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามในบางประเทศไม่สามารถนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในบางประเทศประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามว่า ไม่ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นประชาธิปไตยที่มีกลุ่มทุนมาครอบครอง และยึดอำนาจไป
แต่ในแง่นี้ ประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามว่ามันทำงานบกพร่อง แต่กลุ่มประชาชนหรือนักเคลื่อนไหว หรือคนที่เขาต่อสู้ เรื่องประชาธิปไตยในสังคมอื่น เขาพยายามแก้ปัญหาวิกฤตประชาธิปไตยในประเทศของเขา ด้วยการทำให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ในสังคมไทยที่ผ่านมา ถามว่าประชาธิปไตยที่เรามีเพอร์เฟกต์หรือยัง ผมว่ายังไม่เพอร์เฟกต์ ไม่สมบูรณ์แบบ และมีปัญหามากมาย แต่ถามว่า ประชาธิปไตยมีศักยภาพในการแก้ไขตนเองได้ไหม
ในฐานะที่เป็นการระบอบการปกครองร่วมกับประชาชนทั้งหมด ประวัติศาสตร์ โลกชี้ให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีความยืดหยุ่นมากกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่สังคมเผชิญอยู่
บทเรียนหนึ่งที่พอจะสรุปได้จากการศึกษาเปรียบเทียบทั่วโลกก็คือ การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยากที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตยได้ สังคมไทยวนเวียนอยู่กับสิ่งหนึ่ง เหมือนเป็นสังคมที่ไม่มีการเรียนรู้ คือ เราวนเวียนอยู่กับการใช้วิธีการผิดๆมาแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกครั้งที่เรามีวิกฤตประชาธิปไตย หรือมีความบ่งพร่องของประชาธิปไตย เรากลับไปใช้เครื่องมือที่เรียกว่าระบอบอำนาจนิยมมาแก้ปัญหาแทน
เราบอกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน พรรคการเมืองเป็นเผด็จการ ใช้อำนาจผูกขาดเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง
ถามว่า มีข้อเท็จจริงหลายชี้ชวนให้เราเชื่อย่างนั้นได้หรือไม่ มีแน่นอน แต่สิ่งที่เราทำคือ กลับไปเอาระบอบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลงมาแทนที่ จนผมไม่แน่ใจว่าสุดท้าย โจทย์ของสังคมไทยที่เราใฝ่ฝันคืออะไรกันแน่
หากเราใช้ประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งจริงๆ แล้วแคร์ที่อยากจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนหรือสื่อ มีอิสระ มีเสรีภาพในการแสงความคิดเห็น ตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้นำได้
เราไม่ต้องการให้ใครมาใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจอย่างไม่โปร่งใส ถ้าโจทย์คืออย่างนั้น ประชาชนก็มีหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไม่ว่าเขาจะมาจากไหนก็ตาม
แต่สถานการณ์คล้ายกับว่า ถ้ามีกลุ่มผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เราตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่วันดีคืนดี มีผู้นำที่ขึ้นมาสู่อำนาจโดยอาจจะไม่ได้มาจากประชาชนเลยด้วยซ้ำ แล้วมีพฤติกรรมการใช้อำนาจในลักษณะที่น่าเคลือบแคลงสงสัย แต่ประชาชนก็ไม่ได้ตรวจสอบอย่างเข้มข้นในลักษณะเดียวกัน
จนผมคิดว่า เป็นประเด็นที่ทำให้เราอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามอย่างจริงจัง ที่เราออกไปสู่ท้องถนน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เพื่อต้องการสิ่งนี้ ไม่ใช่หรือ คือให้ประชาชะนีส่วนร่วมมากขึ้น แล้วตรวจสอบการใช้อำนาจมากขึ้น
“ดร.ประจักษ์” กล่าวต่อว่า ถึงที่สุดเราเถียงกันโดยวนเวียนอยู่กับเรื่องคำ แต่ผมไม่แน่ใจว่าเราใช้คำ เช่น คำว่าประชาธิปไตยในความหมายเดียวกันหรือไม่ จนบางครั้งเถียงแล้วก็เหนื่อยแทน บางทีเราอาจจะต้องก้าวข้ามการเถียงเรื่องคำไปให้ได้ ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
แต่มาถกเถียงกันที่เนื้อหาสาระ ถามว่าระบอบการปกครองที่มีผู้นำคนเดียว มีอำนาจเด็ดขาด ในการใช้กฎหมายแบบจอมพลสฤษดิ์(ธนะรัชต์) มาตรา 17 ในการตัดสินประหารชีวิตคนได้ เอามั๊ยระบบการปกครองแบบนั้น
ระบอบการปกครองที่สื่อไม่มีเสรีภาพ ในการทำงาน ในการนำเสนอข่าว เอามั๊ย ระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่สามารถแม้แต่รวมกลุ่มเกิน 5 คนในที่สาธารณะ นักวิชาการไม่มีเสรีภาพในการพูด ในมหาวิทยาลัยของตนเอง ถามว่าระบอบการปกครองแบบนี้เอามั๊ย
จะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ เผอิญว่าทั่วโลก เขาเรียกระบอบการปกครองที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพแล้วผูกขาดอำนาจไว้กับผู้นำว่า ระบอบเผด็จการ เราอาจจะไม่เรียกแบบเขาก็ได้ แต่ถามว่าเราเอาด้วยมั๊ย
ถ้าคำตอบคือเอาด้วย ก็จะได้รู้ว่าถกเถียงกันเรื่องอะไรอยู่ ถึงจุดหนึ่งก็อาจจะรู้ว่า ก็รู้ว่าจอมพลสฤดิ์เป็นเผด็จการ แต่ฉันชอบการปกครองแบบจอมพลสฤษด์เพราะศรัทธาว่าผู้นำที่ใช้อำนาจเด็ดขาดจะแก้ไขปัญหาได้
นอกจากนี้ “ดร.ประจักษ์” ยังวิเคราะห์การเมืองไทยว่า ในสภาวะปัจจุบันเพื่อจะออกจากวิกฤตประชาธิปไตยรอบนี้ หรือหากใช้คำของท่านอาจารย์บวรศักดิ์(อุวรรณโณ) คือการสร้างการเมืองของพลเมือง ที่พลเมืองมีอำนาจจริงๆ
ถ้าจะทำสิ่งนั้นได้ ผมคิดว่า สังคมไทยต้องการการปฏิรูปอย่างรอบด้าน สถาบันการเมืองต่างๆทุกสถาบันที่ใช้อำนาจและงบประมาณสาธารณะ ควรจะต้องได้รับการปฏิรูปทั้งหมด
และเราจะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และการเมืองของพลเมือง โดยไม่พูดถึงการปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจอย่างมหาศาลอย่างกองทัพไม่ได้
บทเรียนหลายประเทศในการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนขึ้นมาได้ หรือรัฐธรรมนูญที่สร้างความยั่งยืนทุกประเทศ จะต้องปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพ
เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจควบคุมความรุนแรงมีโอกาสที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สูง หรือแทรกแซงการเมือง ถ้าไม่ถูกควบคุมหรือปฏิรูปให้มีความเป็นประชาธิปไตยได้
ขณะนี้เรากำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังอภิปราย ถกเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นหนึ่งที่น่ามหัศจรรย์ใจคือ รัฐธรรมนูญนี้ต้องการปฏิรูปทุกหน่วยงาน ทุกสถาบัน ทุกองคาพยพในสงคมไทย สร้างองค์กรใหม่ๆขึ้นมามากมาย
แต่อันหนึ่งในการอภิปรายของสปช. ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ไม่มีการอภิปรายถึงการปฏิรูปกองทัพเลย ซึ่งเป็นประเด็นที่กองทัพเอง ถ้าจริงใจในการสร้างการเมืองแบบพลเมือง หรือถ้ากองทัพรู้สึกว่าเหนื่อยแล้ว ไม่ได้อยากเข้ามาทำงานอีก ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงการปฏิรูปองค์กรของตนเองด้วย
อย่างที่เคยเกิดขึ้นในชิลี บราซิล อาร์เจนตินา การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในลาติอเมริกา ปัจจัยอันหนึ่งที่สำคัญมากๆคือ เกิดการปฏิรูปกองทัพ ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งระบบ
ขณะเดียวกัน นักวิชาการรัฐศาสตร์ ยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังพยายามสถาปนาขึ้นมา คือสิ่งที่เรียกว่า Controlled democracy หรือ “ประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม”
คือมีการสร้างอำนาจหรือกลุ่มผู้มีอำนาจขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มใหม่ ซึ่งใช้อำนาจไม่ได้ต่างจากนักการเมืองโดยทั่วไป แต่กลุ่มองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้ ถูกทำให้มีที่มาโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นการเมืองแบบ 2 ชั้น
ชั้นหนึ่งคือให้ประชาชนไปเลือกกันมา ได้อำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติซึ่งถูกทำให้อ่อนแออย่างมากในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็มีองค์กรชั้น2 คอยดูแลควบคุมทุกอย่างให้
สมัย 2475 มีการอ้างเรื่องการศึกษาว่าประชาชนไม่พร้อม แต่ในปัจจุบัน การศึกษาถูกอ้างน้อยลง แต่เกณฑ์เรื่องคุณธรรม จริยธรรม กลายเป็นเกณฑ์ใหม่ในการที่จะมาตัดตอนให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลง แล้วมอบอำนาจไปให้กับองค์กรที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และเชื่อว่ามีคุณธรรม จริยธรรมมากกว่าคนอื่น
ในแง่นี้ สภาวะที่จะเกิดขึ้นคล้ายกับระบอบการเมืองที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ คือ อนุญาตให้มีการแข่งขันในการเลือกตั้งได้ แต่มีข้อยกเว้นให้กับตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆหลายตำแหน่งว่าไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
มีการสร้างองค์กรต่างๆขึ้นมาควบคุม การเลือกตั้งอีกชั้นหนึ่ง พรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งมีความหมายน้อยมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรากำลังจะได้ Quarter democracy ประชาธิปไตยแค่ 1 ใน 4 หรือประชาธิปไตยแบบ “ส่วนเสี้ยว”
“ดร.ประจักษ์” วิเคราะห์ว่า การออกจากวิกฤตครั้งนี้ในสังคมไทยเป็นเรื่องยากมาก เพราะหลายคนยังคงมีความหวังว่าให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ แล้วเราจะกลับไปสูประชาธิปไตย เพราะยังเชื่อในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเป็นเส้นตรง
เมื่อเวลาผ่านไป สังคมไทยก็จะมีประชาธิปไตยเอง ไม่ต้องทำอะไร แต่บทเรียนหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่ต้องทำอะไร คือ ก็จะไม่ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาเช่นกัน
“เราอาจยอมทนอยู่กับสิ่งหนึ่งที่อาจไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ทุกคนรู้ว่าดี แต่เพราะสังคมไทยยังไม่สามารถมีฉันทามติร่วมกันว่า ระบอบการปกครองแบบใหม่ที่มันจะเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนคืออะไร” นักวิชาการรัฐศาสตร์ สรุปทิ้งท้ายให้ขบคิด
ขอบคุณภาพจาก http://www.citizenthaipbs.net