นักวิชาการหนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2% ตามอัตราเงินเฟ้อ
‘วิไลวรรณ แซ่เตีย’ ถือฤกษ์วันแรงงานแห่งชาติร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาท เหตุค่าครองชีพถีบตัวสูง ใช้ชีวิตไม่ได้ ด้านรอง ปธ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานฯ ชงคุ้มครองสิทธิตาม กม.ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ
วันที่ 30 เมษายน 2558 มูลนิธินิคม จันทรวิทุร ร่วมกับสถาบันทรัพยากรมนุษย์ หลักสูตรพัฒนาแรงงานและสวัสดิการมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ จัดสัมมนาเนื่องในวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2558 เรื่อง กฎหมายแรงงานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานและความเจริญรุ่งเรืองของขบวนการแรงงานในสังคมประชาธิปไตย ณ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 คสรท.จะจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ คือ รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองฯ รวมถึงรัฐต้องคุ้มครองการละเมิดสิทธิแรงงานของคนทำงานด้วย
นอกจากนี้ยังมีกรณีค่าแรงขั้นต่ำที่ผูกติดชีวิตคนทำงาน ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น แต่ภาครัฐกลับไม่มีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้คงที่ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท/วัน เป็น 360 บาท/วัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี แม้ไม่ใช่แนวทางดีที่สุด แต่ชีวิตประจำวันของคนทำงานมีความจำเป็นต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร 3 มื้อ เมื่อคำนวณแล้ว พบว่า ค่าแรง 360 บาท/วัน คนทำงานสามารถดำรงชีวิตได้อย่างประหยัด
“ปี 2558 ต้องทบทวนปรับค่าแรงตามความเหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของคนทำงาน มิเช่นนั้นจะดำรงชีวิตไม่ได้ และไม่อยากให้ตกเป็นจำเลยสังคมทุกครั้งที่ออกมาพูดถึงค่าจ้างว่า ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น” ประธาน คสรท. กล่าว และว่า แม้ไม่มีการเรียกร้องเรื่องดังกล่าว ค่าครองชีพก็สูงขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งอำนาจในการควบคุมอยู่ที่รัฐบาล ทั้งนี้ หากสถานประกอบการให้ความสำคัญกับชีวิตคนจน มองคนทำงานเป็นหุ้นส่วนบริษัท แบ่งปันกำไรด้วยความเป็นธรรม จะสร้างแรงจูงใจ แล้วผลผลิตจะเจริญเติบโตเอง
ด้านนางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวถึงแรงงานนอกระบบว่า เป็นกลุ่มที่ไม่อยู่ในคำจำกัดความของ ‘ผู้ใช้แรงงาน’ หากตีความหมายตามความสัมพันธ์ทางการจ้าง เพราะไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ามีคนจำนวนมากใช้แรงงานอยู่บ้านที่มีระบบใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม อาทิ เย็บเสื้อโหล ประดิษฐ์ดอกไม้พลาสติก ตลอดจนหาบเร่แผงลอย คนขับรถแท็กซี่ หรือช่างเสริมสวย
"เสนอให้ขยายการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ร้อยละ 65 โดยไม่จำกัดเฉพาะพนักงานตอกบัตร"
สำหรับปัญหาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานนั้น รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานฯ กล่าวว่า เรื่องค่าจ้างยังเป็นประเด็นสำคัญ ตราบใดที่รายได้จากการทำงานต้องมีอัตราขั้นต่ำ ไม่มีทางจะทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ ซึ่งหลายองค์กรต่างเรียกร้องให้คิดอัตราค่าแรงให้เพียงพอต่อการดำรงชีพแทน และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คนตามหลักสากล โดยเทียบข้อมูลกับมาตรฐานค่าครองชีพของไทย
ขณะที่ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำว่า ไทยไม่มีการปรับขึ้นมา 3 ปี แล้ว จึงเห็นด้วยควรจะปรับอัตราขึ้น ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีมีมติจะพิจารณาทบทวนในสิ้นปี 2558 อย่างไรก็ตาม การอ้างว่า เมื่อปรับค่าแรงขึ้นแล้วจะทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของไทยมีปัญหาไม่จริง ปัจจัยสำคัญน่าจะเกี่ยวข้องกับด้านอื่นมากกว่า
“ค่าแรงขั้นต่ำควรปรับขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 2 โดยคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.2-1.5” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว และว่า หากรวมความผันผวนทางอาหารและราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.2-0.5 .