นักวิชาการจุฬาแนะเตรียมรับมือภัยพิบัติอาคารต่ำกว่า 15 เมตรเสริมความต้านทานแผ่นดินไหว
อาจารย์วิศวะ จี้รัฐบาลเตรียมความพร้อมเหตุการณ์แผ่นดินไหว แนะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์การก่อสร้าง เสริมความแข็งแรงอาคารเก่า ระบุภัยพิบัติธรรมชาตินำมาซึ่งความสูญเสียจำเป็นต้องเรียนรู้ วิจัยพัฒนาป้องกันเพื่อบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
วันที่ 30 เมษายน 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว “บทเรียนจากเนปาลสู่ไทย...รับมือแผ่นดินไหวอย่างไร” ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี4
ศ.กิตติคุณ ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นที่เนปาลมีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทยน้อยมาก และหากยังจำได้คงยังไม่ลืมความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ในปี 2557 ถามว่า จนถึงวันนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหวที่อาจจะรุนแรงกว่าเดิมแล้วหรือไม่ ทั้งในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายในการออกแบบอาคารให้มีความต้านทานแผ่นดินไหว การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องระบบโครงสร้างอาคารที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหว การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์การก่อสร้างสำหรับชิ้นส่วนสำเร็จรูป การเสริมความแข็งแรงของอาคารเก่า โดยเฉพาะในส่วนการเสริมความแข็งแรงของอาคารบัญชาการต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว กล่าวว่า ที่สำคัญจะต้องใช้วิกฤติที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาส เป็นบทเรียนที่ล้ำค่า หากดูตัวอย่างจากโมเดลของประเทศไต้หวัน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะชิชิ ซึ่งรัฐบาลเขาลงทุนทั้งการวิจัยและพัฒนาการประเมินความแข็งแรงของอาคาร ประเทศไทยควรจะนำมาเป็นแบบอย่างและนำมาประยุกต์ใช้ และวันนี้เราต้องการผู้นำที่เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ ต้องการผู้นำที่ไม่ได้มีแต่หัวโขนแต่ต้องมีวิสัยทัศน์ด้วย
“ไทยอาจจำเป็นต้องให้ตึกที่สูงต่ำกว่า 15 เมตรที่เป็นตึกเอกชนต้องมีการปรับโครงสร้างในการต้านแผ่นดินไหว และตึกสาธารณะตั้งแต่หนึ่งชั้นขึ้นไปก็จำเป็นที่จะต้องสร้างให้มีความแข็งแรงและป้องกันแผ่นดินไหวได้ด้วยเช่นกัน" ศ.กิตติคุณ ดร.ปณิธาน กล่าว และว่า กรณีบ้านน๊อคดาวน์นั้นขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานในเรื่องความแข็งแรงคงทน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมาพูดคุยและสร้างมาตรการป้องกันและมาตรฐานของอาคารและตึกอีกครั้ง
ด้านผศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีประเทศเนปาลมีที่ตั้งอยู่บริเวณของของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียกับแผ่นเปลือกโลกอินเดียมาชนกัน ตามหลักทางวิทยาศาสตร์การเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนี้ตรงตามทฤษฎีและเป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น หากย้อนหลังไปในอดีตก็จะพบว่า พื้นที่แถบนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำอยู่แล้ว
“ความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวในเนปาลเกิดจากมาตรฐานสิ่งปลูกสร้างไม่ยืดหยุ่นรองรับการเกิดแผ่นดินไหว”ผศ.ดร.สันติ กล่าว และยืนยัน แผ่นดินไหวที่เนปาลจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะแผ่นดินไหวในครั้งนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนของแผ่นดินน้อยมากและอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลต่อประเทศไทย ได้แก่ แนวมุดตัวสุมาตรา อันดามัน กลุ่มรอยเลื่อนสะกาย ทางตอนกลางของประเทศเมียนมาร์ กลุ่มรอยเลื่อนในภาคเหนือ กลุ่มรอยเลื่อนในภาคตะวันตก และกลุ่มรอยเลื่อนในภาคใต้ ซึ่งจากข้อมูลในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกายเมียนมาร์ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยได้แต่ก็ยังไม่ขั้นเกิดภัยพิบัติ