“พรเพชร”ยันใช้ม.44 สั่งทำประชามติไม่ได้! เหตุอำนาจอยู่ใต้รธน.ชั่วคราว
“พรเพชร” ยันใช้ ม.44 สั่งทำประชามติไม่ได้ ! อำนาจอยู่ใต้ รธน.ชั่วคราว ชี้หากแก้ไข ม.46 เปิดทางแก้ไข รธน.ชั่วคราวให้มีประชามติ ต้องผ่าน ครม.-คสช.-สนช. ตัดสินใจ เปรียบ “เหมือนขายขนมครก ตัดสินใจคนเดียวไม่ได้” ดูเหตุผลเป็นหลัก
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีการใช้มาตรา 44 และมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการทำประชามติว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยอมรับสถานะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีอำนาจสำคัญคือมาตรา 44 ให้หัวหน้า คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ใช้เป็นเครื่องมือทำตามโร้ดแม็พ ดังนั้นมาตรา 44 ผูกโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ใช่จะทำอย่างไรก็ได้ และไม่ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และอยู่ ๆ จะมาใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ได้
“เห็นพูดกันว่า นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ทำให้มีประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำไม่ได้ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหลายมาตรา และไม่ได้พูดถึงการลงประชามติ จะใช้มาตรา 44 ลงประชามติไม่ได้ ถึงจะสั่ง แต่คำสั่งนั้นไม่ผูกพัน หรือไม่มีผลต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายพรเพชร กล่าว
นายพรเพชร กล่าวอีกว่า มาตรา 44 แม้ใครจะพูดว่ามีอำนาจครอบจักรวาล แต่มีการจำกัดขอบเขตไว้ เช่น หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งผ่านทางนิติบัญญัติ หรือทางปกครองได้ ซึ่งก็ทำมาแล้ว แต่จะอยู่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่เกินเลยกว่านั้น
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตามมาตรา 46 เพื่อเปิดให้มีการทำประชามตินั้น นายพรเพชร กล่าวว่า มาตรา 46 เขียนไว้เผื่อเจออุปสรรคหรือปัญหาในการดำเนินการตามโร้ดแม็พ จึงได้ให้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะได้ไม่มีทางตัน มีทางออกให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้ดำเนินการตามโร้ดแม็พ แต่ไม่มีสิทธิแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะต้องทำผ่าน 3 องค์กร ได้แก่ คณะรัฐมนตรี คสช. และ สนช. ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ไขอะไรต้องผ่าน 3 องค์กรนี้ คนอื่นไม่เกี่ยว
“มาตรา 46 ไม่ใช่เรื่องของการทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ จึงลงไม่ได้ และจะใช้มาตรา 44 ทำก็ไม่ได้” นายพรเพชร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นอำนาจตัดสินใจของใคร นายพรเพชร กล่าวว่า เบื้องต้นเป็นอำนาจของ คสช. และคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีใครจะเสนอมาก็ได้ แต่ต้องดูเหตุผลรองรับ และผ่านกระบวนการพิจารณาของ 3 องค์กรข้างต้น โดยจะดูจากปัจจัยสำคัญเป็นหลักว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
“เหมือนขายขนมครก ตัดสินใจคนเดียวคงไม่ได้” นายพรเพชร กล่าว