หยุดเกมยื้อ! สุขภาพคนไทยไม่ได้ทนทานกว่าชาติอื่น ถึงเวลา ...ไร้แร่ใยหิน
ภาคประชาสังคมจี้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ยกเลิกนำเข้า-ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ยันเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง นักวิชาการ มจธ.เผยเหลือเอกชนเจ้าเดียวยังยื้อเวลา หวังผลจากการขายสินค้า ระบุให้ข้อมูลผ่านสื่อไร้อันตราย ถือเป็นโฆษณาเกินจริง
นับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 เมษายน 2554 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ให้ไทยยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาข้อมูล แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ แม้คณะทำงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จะขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด
จนปัจจุบันในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการบริหารประเทศภายใต้มาตรา 44 ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวจะถูกละเลยความสำคัญไป แต่ถือเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งของไทยที่จะลุกขึ้นสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและความพร้อมในการยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งเหลืออยู่ในประเทศเพียงชนิดเดียว โดยไม่รีรอให้การเจ็บป่วยบานปลายจนสายเกินแก้
แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า จัดเสวนา ‘ถึงเวลา...สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ณ โรงแรม VIC 3 Bangkok เพื่อตอกย้ำข้อมูลและชี้ความจริงให้เห็นว่า แร่ใยหินไครโซไทล์อันตราย!!!
"แววดาว เขียวเกษม" ผู้แทนมูลนิธิผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินชนิดนี้ทันที แม้นายกฯ จะเป็นเพื่อนกับรัสเซีย ซึ่งมีเหมืองแร่ใยหินไครโซไทล์ก็ตาม แต่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดจะต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนไทยด้วย เพราะข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดเจนแล้วว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นรัฐบาลต้องคำนึงและให้ความสำคัญเรื่องนี้ก่อนการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลแพงด้วยซ้ำ
ด้านธนชัย ฟูเฟื่อง ผู้แทนศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค จ.เชียงราย เห็นด้วยให้รัฐบาลต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้ยกเลิกนำเข้าและใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศ และให้ความรู้ในระดับพื้นที่ หากมีบุคลากรไม่เพียงพอ ประชาชนในแต่ละภูมิภาคที่มีพลังพร้อมจะช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ไม่เฉพาะประชาชนเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูล
สำหรับ 4 สินค้าที่เป็นวัสดุก่อสร้างและใกล้ตัว มีแร่ใยหินไซโครไทล์เป็นส่วนประกอบ คือ กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคาลอนเดี่ยว/ลอนคู่ ฝ้าเพดาน ผนังกั้นห้อง และกระเบื้องยางปูพื้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางราย ออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อยืนยันเสียงหนักแน่นว่า ไม่เป็นอันตราย
นักวิชาการเตือนไม่เลิกใช้เเร่ใยหิน ระวังถูกห้ามส่งสินค้าเข้ายุโรป
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ระบุถึงกรณีนี้ว่า เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง เพราะองค์การอนามัยโลกมีข้อมูลชัดเจนแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง หากไม่เป็นความจริงก็ต้องหาหลักฐานมาโต้แย้ง แต่ที่ผ่านมากลับไม่พบใครโต้แย้งข้อมูลในประเด็นนี้ นอกจากใช้ข้อมูลทางวิชาการเก่ามาหักล้างเสมอ
“หากยกเลิกนำเข้าและใช้แร่ใยหินไครโซไทล์วันนี้ ประชาชนยังอยู่ได้ สบายด้วย และมีความเสี่ยงโรคมะเร็งน้อยลง อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ยังเชื่อบริสุทธิ์ใจว่าไม่เป็นอันตราย” นักวิชาการ มจธ. กล่าว และว่า ผู้จะได้รับประโยชน์ครั้งนี้ คือ คนไทยทุกคน เพราะวัสดุก่อสร้างเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้และมีความสำคัญมาก ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีแร่ใยหินไครโซไทล์ นอกจากเพื่อหวังผลประโยชน์จากการขายเท่านั้น จึงยกเลิกไม่ได้
ส่วนผู้ประกอบการกังวลเมื่อยกเลิกแล้วจะกระทบเงินลงทุน เพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ดร.ไพบูลย์ คำนวณแล้วพบว่า ช่วงแรกจะแพงขึ้นร้อยละ 5-10 แต่ผ่านไประยะหนึ่งจะถึงจุดคุ้มทุน ทุกคนได้ประโยชน์ ที่สำคัญ ผู้ประกอบการพูดได้เต็มปากว่า สินค้าไม่มีแร่ใยหิน พร้อมยืนยันวัสดุประเภท ไวนิล พีวีเอ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีล้วนทนทานและนำมาทดแทนได้
“ยุโรปยกเลิกแร่ใยหินทุกชนิดตั้งแต่ปี 2548 ขอเตือนผู้ประกอบการไทยส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในยุโรป ระวังวันหนึ่งจะเจอมาตรการห้ามสินค้าไทยเข้าประเทศเหมือนสินค้าประมง
ที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ก่อให้เกิดมะเร็งแน่นอน หากยังมีผู้ประกอบการดื้ออยู่รายเดียว จะทำให้ปลาทั้งข้องเน่าไปหมด ดังนั้นต้องช่วยกันอย่าให้รวยบนน้ำตาคนทุกข์” นักวิชาการ มจธ. กล่าว
น.ส.สุวดี ทวีสุข ผอ.กลุ่มงานพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยแรงงาน สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ระบุถึง มติ ครม. 12 เมษายน 2558 เห็นชอบให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ให้สังคมไร้แร่ใยหิน โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมการดำเนินงานตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ การยกเลิกทำได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นควรให้ดำเนินการให้สังคมไร้แร่ใยหิน โดยเลือกประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีสารทดแทนก่อน จึงยื่นเรื่องไปให้ ครม. แต่ปรากฏว่า ไม่มีองค์กรใดที่สามารถรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ทั้งหมดได้ จึงกังวลจะมีบางรายการหลุดไป
“ถ้าในบ้านมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ หากแตกและมีฝุ่นก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้นประชาชนต้องระมัดระวังตัวเอง ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตราย กรณีสงสัยฝุ่นจากการรื้อถอนอาคารที่สุ่มเสี่ยง”
ผอ.สุวดี ระบุถึงความคืบหน้าด้วยว่า เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีโอกาสแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จึงมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ในการประกาศเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในสินค้าประเภทผ้าเบรกและกระเบื้องมุงหลังคาในโรงงานอุตสาหกรรมแทน
ไม่น่าเชื่อ! เวิลด์เทรดถล่มมีเเร่ใยหินฟุ้งกระจาย 2 พันตัน
ขณะที่ ผศ.ดร.ฐิติวร ชูสง ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) ยกตัวอย่างเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มเมื่อ 10 ปี ก่อน เพื่อยืนยันว่า แร่ใยหินไครโซไทล์มีอันตรายจริง ซึ่งมีการเก็บข้อมูลย้อนหลังเหตุการณ์นั้นพบมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานผจญเพลิงในตึกดังกล่าวป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดพุ่งร้อยละ 19 และมีการคำนวณก่อให้เกิดแร่ใยหินฟุ้งกระจายในอากาศประมาณ 2,000 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณจำนวนมาก
“ญี่ปุ่นมีการเก็บข้อมูลบนท้องถนน พบฝุ่นที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเกิดจากการเหยียบเบรก”
นักวิชาการ มอ. กล่าวต่อว่า ในบางประเทศที่ทดลองรื้ออาคารด้วยการทุบตึก มีการแนะนำให้รื้อถอนวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินออกจากพื้นที่ก่อนใช้เครนและลูกตุ้มทุบ โดยระหว่างนั้นต้องใช้สเปรย์น้ำพ่นละอองด้วย แต่ยังพบว่ามีแร่ใยหินฟุ้งกระจายอยู่ แม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม
ทั้งนี้ ออสเตรเลียจัดกลุ่มประชาชนที่มีโอกาสเสี่ยง 5 กลุ่ม เรียงลำดับจากน้อยสุดไปหามากสุด ดังนี้ กลุ่มที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป, กลุ่มอาศัยในบ้าน/ชุมชน, กลุ่มรับจ้างก่อสร้าง, กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง และคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในเมืองในที่ใช้แร่ใยหิน
ส่วนคำแนะนำควรมีมาตรการรื้อถอนตึกอาคารอย่างไรให้ปลอดภัย ผศ.ดร.ฐิติกร พบว่า ในต่างประเทศได้จัดทำคู่มือการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินแล้ว แต่ไทยยังไม่มีการจัดทำ ยกเว้นคู่มือรื้อถอนวัสดุที่มีแร่ใยหินของทีมวิจัยที่ใช้กับอาคารขนาดเล็ก ทว่ายังไม่ครอบคลุมทุกอาคาร ซึ่งต้องศึกษาวิจัยต่อไป อย่างไรก็ตาม การรื้อถอนที่ถูกต้องต้องระมัดระวังไม่ให้วัสดุแตกหัก เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย
*******************************
ทั้งหมดจึงเป็นข้อมูลที่โยนกลับไปยังผู้นำรัฐบาลเวลานี้ให้ตัดสินใจว่า จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกนำเข้าและใช้แร่ใยหินไครโซไทล์หรือไม่ หรือสุขภาพคนไทยทนทานกว่าชนชาติอื่น จึงยอมปล่อยให้ใช้แร่ใยหินชนิดนี้ในสังคมต่อไปอย่างไม่แยแส
.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ภาคประชาสังคมวอนนายกฯ สั่งงดนำเข้า-เลิกใช้แร่ใยหินก่อมะเร็ง
ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ หนุนภายใน 2 ปี ต้องยกเลิกใช้แร่ใยหิน ตามมติครม.
ปมดราม่าโทษแร่ใยหินมากหรือน้อยกว่า"ไม้จิ้มฟัน"
ภาพประกอบหลัก:เเร่ใยหิน-เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์/เว็บไซต์ไทยพับลิก้า