“สภาเกษตรแห่งชาติ” เดี้ยง! กฤษฎีกาตีความยังเกิดไม่ได้
“สภาเกษตรกรแห่งชาติ” ชะงัก กฤษภีกาตีความว่าสภาเกษตรจังหวัดที่เลือกตั้งไปแล้ว “อายุสมาชิกประเภทตัวแทนเกษตรกรไม่ถึงหนึ่งปี-ขาดองค์ประกอบผู้ทรงคุณวุฒิ” ถือว่ายังไม่เกิด รอ รมว.กษ.ใช้อำนาจตามบทเฉพาะกาล
จากบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง “องค์ประกอบและการได้มาของสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดแรกตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553” ระบุว่าตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.)ทำหนังสือถึงสำนักงานฯ 11 ส.ค.54 ว่าประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นและคณะ ขอให้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติตาม พ.ร.บ. และการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการได้มาซึ่งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.)ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.
ทั้งนี้สำนักงานปลัด กษ.เห็นว่า มาตรา 7 (3) กำหนดคุณสมบัติสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติที่มาจากตัวแทนองค์กรเกษตรกร ตามมาตรา 5 (2) ต้องเป็นเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรไม่น้อยกว่า 1 ปี และมาตรา 3 นิยาม “องค์กรเกษตรกร” ว่ากลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ. แต่ปรากฏว่าการขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรตาม พ.ร.บ.ยังไม่ครบหนึ่งปี จึงไม่อาจมีสมาชิกประเภทตัวแทนองค์กร สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงยังไม่มีขึ้น รวมทั้งไม่อาจมีสภาเกษตรกรจังหวัดได้ เนื่องจากการเลือกสมาชิกระดับจังหวัดประเภทผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขที่สภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนด
แต่ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นและคณะ เห็นว่าปัจจุบันได้มีประธานสภาเกษตรกรจังหวัดแล้ว 77 คน องค์ประชุมของสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงมี 77 คนจาก 100 คนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่สภาเกษตรกรจึงเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายแล้ว จึงควรจะตีความให้สามารถปฏิบัติงานได้ ประกอบกับบทเฉพาะกาลมาตรา 52 ที่บัญญัติว่าในวาระเริ่มแรกให้ รมว.กษ.มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ฯ การได้มาซึ่งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติตามมาตรา 5(2) และ (3) ชุดแรกได้โดยตรง
ดังนั้นวันที่ 26 ก.ย.54 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงชื่อนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ใจความว่าตามที่ กษ.หารือมา ประเด็นที่ 1.สภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติในขณะนี้สามารถดำเนินงานตามบทบาทอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ไปพลางก่อนได้หรือไม่เพียงใด คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า พ.ร.บ.กำหนดให้สภาเกษตรกรจังหวัดประกอบด้วย 1.สมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้ง 16 คน (จังหวัดใดมีมากกว่า 16 อำเภอ ให้เพิ่มจำนวนสมาชิกเท่ากับจำนวนอำเภอ) และ 2.สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน เลือกจากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม
กรณีสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรกนั้น บทเฉพาะกาลกำหนดวิธีการเลือกสมาชิกเฉพาะสมาชิกตามมาตรา 31(1) หรือประเภทผู้แทนเกษตรกร โดยให้ปลัด กษ.และเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จัดเลือกตั้ง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้ง และให้ รมว.กษ.แต่งตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภายใน 45 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เรียกประชุมสมาชิกเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้มีการเลือกประธานสภาเกษตรกรจังหวัดแล้ว
แต่ยังไม่มีสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประเภทผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 31(2) เนื่องจากยังไม่มีหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกประเภทนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดจึงมีองค์ประกอบสมาชิกไม่ครบ จึงไม่สามารถดำเนินงานตามอำนาจ หน้าที่ได้จนกว่าจะมีการเลือกสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ
สำหรับกรณีสภาเกษตรกรแห่งชาติ มาตรา 56 กำหนดให้ประกอบด้วย 1.ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง 2.สมาชิกซึ่งเลือกจากตัวแทนองค์กรเกษตรกรด้านพืช สัตว์ ประมง และอื่นๆ 16 คน โดยต้องเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยให้ รมว.กษ.กำหนดหลักเกณฑ์และจัดให้มีการขึ้นทะเบียนภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ และ 3.สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสมาชิกประเภทแรกเลือกจากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม 7 คน
ปรากฏว่าขณะนี้ได้เลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและประธานสภาเกษตรกรจังหวัดแล้ว สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงมีสมาชิกตามมาตรา 5(1) หรือประเภทเลือกตั้งแล้ว แต่โดยที่ รมว.กษ.ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ฯได้มาซึ่งสมาชิกตามมาตรา 5 (2) และ (3) จึงยังไม่มีสมาชิกประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงมีองค์ประกอบไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.บ. ได้
ประเด็นที่ 2.รมว.กษ.ผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ฯ การได้มาซึ่งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติตามมาตรา 5(2) ประเภทตัวแทนองค์กรเกษตร และ 5(3) ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ โดยไม่ต้องรอเงื่อนเวลาตามมาตรา 7(3) ได้หรือไม่เพียงใด
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดแรกนั้น สมาชิกประเภทตัวแทนองค์กรและผู้ทรงคุณวุฒิยังไม่อาจเลือกได้ เพราะยังไม่มีสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการแต่งตั้ง มาตรา 5212 จึงให้ รมว.กษ.มีอำนาจแทนเพื่อให้การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดแรกมีองค์ประกอบครบถ้วน ดังนั้น รมว.กษ.จึงสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ฯ การได้มาซึ่งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติตามมาตรา 5(2) และ (3) ชุดแรก โดยไม่ต้องรอเงื่อนเวลา .
-------------------------------------------------------------
(ล้อมกรอบ)
คุณสมบัติสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ตํ่ากว่า 25 ปีบริบูรณ์ เป็นเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกรมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้เฉพาะกรณีสมาชิกตามมาตรา 5(2)และ(4) ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ไม่เป็นพระภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เคยจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ได้พ้นโทษดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีหรือเป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ.
ที่มาภาพ : http://www.chaoprayanews.com/2009/05/11/นักวิชาการ-ngo-แนะ-เกษตรกร-ใ/