ดร.คณิต ทวงถามปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อยากเห็นอยู่ในร่างรธน.
นักวิชาการด้านกฎหมาย ยันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไทยแปลกสุดในโลก มีภาพปฏิรูปอยู่ข้างใน ชี้เป็นแนวทางและรายละเอียดการทำงาน เหตุ 80 ปีที่ผ่านมาไม่เคยปฏิรูปสำเร็จ ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุประเทศที่มีธรรมภิบาลก่อนผ่านร่างกฎหมายต้องฟังเสียงประชาชน
29 เมษายน 2558 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เรื่อง “ปฏิรูปกฎหมายท้าทายปฏิรูปประเทศ” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวอร์ชั่นเซ็นเตอร์ โดยมีศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานปฏิรูปกฎหมายเป็นประธาน กล่าวเปิดงาน และมีการเสวนาในหัวข้อ “ปฏิรูปกฎหมายท้าทายปฏิรูปประเทศ”
ศ.ดร.คณิต กล่าวตอนหนึ่งของปาฐกถา 4 ปี คปก.กับการปฏิรูปกฎหมาย ว่า การปฏิรูปนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปประเทศ การเมือง และกระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่และได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และการปฏิรูปรอบที่สอง คือการปฏิรูปโดยรัฐธรรมนูญในปี 2540 การปฏิรูปในปัจจุบันมีอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกคือการปฏิรูปการเมือง ประเด็นที่สองคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การจะปฏิรูปเรื่องใดๆ ก็ตามจะต้องใช้องค์ความรู้และหลักวิชาการเป็นสำคัญ นอกจากนี้ต้องให้มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะกฎหมายทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งสิ้น
ประธานคปก. กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 จากที่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง และพยายามผลักดันเรื่องของการพิจารณาพิพากษาข้อเท็จจริงของศาลสูงสุดของประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกที่ศาลสูงสุดของประเทศนั้นมานั่งพิจารณาข้อเท็จจริง มีแต่ข้อกฎหมาย ดังนั้นเมื่อเป็นข้อกฎหมายแล้วศาลสูงสุดของประเทศก็จะเล็กลงและมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากการผลักดันเรื่องนี้ไม่สำเร็จ ตอนนี้จึงอยากจะทวงถามถึงท่านบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้นำประเด็นนี้ไปพิจารณาหรือไม่
"การปฏิรูปล้วนต้องใช้เวลา ซึ่งใน 4 ปีที่ผ่านมาคปก.ชุดนี้ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่แต่ก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์"
ด้านศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กฎหมายคือกติการพื้นฐานของสังคม และในสังคมไทยกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม วันนี้มีใครปฏิเสธหรือไม่ว่ากฎหมายต้องยกเครื่องใหม่ กฎหมายคือผลผลิตของสังคมและเกิดขึ้นจากคนในสังคม หากเจตจำนงทางการเมืองไม่เปลี่ยนการปฏิรูปก็จะแน่นิ่ง ดังนั้นวันนี้เจตจำนงในการปฏิรูปกฎหมายจะต้องเป็นไปอย่างรอบด้าน ต้องเป็นการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางโครงสร้างใหม่ และหากทำไม่ได้บอกได้เลยว่า เสียของ
ดร.บรรเจิด กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่เป็นร่างที่มีการปรับปรุงเรื่องดุลอำนาจ อยากให้พลเมืองภาคประชาชนเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด หนุนสังคมให้เป็นธรรม เพื่อนำไปสู่สันติสุขของชาติ แต่คนที่เสียงดังที่สุดในประเทศนี้คือกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ส่วนเสียงของประชาชนที่แท้จริงเบาเหลือเกิน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามที่ปรับดุลโครงสร้างทางการเมือง
“วันนี้ก็มีการพนันเกิดขึ้นแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญจะคลอดหรือจะแท้ง บอกได้ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกที่สุดในโลก เพราะมีภาพของการปฏิรูปประเทศอยู่ในนี้ ถามว่าทำไมต้องจับใส่ เพราะ 80 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยทำได้เลย และจะไปมั่วแต่โทษนักการเมืองก็ไม่ได้ ดังนั้นการปฏิรูปครั้งนี้จึงจำเป็นต้องใส่ภาพเข้าไปเพื่อเป็นการวางกลไกและกระบวนการ รายละเอียดและทิศทาง โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่อย่างนั้นจะหาหลักประกันไม่ได้”
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายนั้นไม่ได้หมายถึงการออกกฎหมายใหม่อย่างเดียว แต่ต้องปรับปรุงกฎหมายเดิมให้มีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้เมื่อมีกฎหมายในทางปฏิบัติก็จำเป็นที่จะต้องบังคับใช้ให้ได้ การปฏิรูปจึงต้องเป็นเรื่องการปฏิรูปเรื่องการออกกฎหมายและการบังคับใช้ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคปก.เองก็ไม่ควรจะถูกจำกัดมิฉะนั้นจะไม่สามารถปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆได้
ส่วนดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญ หรือการออกกฎหมายทุกประเทศทั่วโลกที่มีธรรมาภิบาลที่ดีจะให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของประชาชน เพราะการรับฟังความเห็นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ในต่างประเทศมองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ในมุมกลับกันสำหรับประเทศไทยเวทีการรับฟังความเห็นคือเขาได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง คือไม่สนใจว่าเราจะพูดอะไร ผลสรุปจะออกมาว่า ดี เห็นด้วย
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายหลายฉบับ มีการพยายามจะให้เกิดกฎหมายภาคประชาชน แต่ในต่างประเทศกฎหมายที่รัฐบาลออกมาก็คือกฎหมายของประชาชน เพราะเขาให้โอกาสประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและให้ความเห็น แต่กฎหมายของไทยเคยให้ประชาชนเข้าไปร่วมหรือไม่ นี่คือเรื่องสำคัญมากในการร่างกฎหมาย"