‘บวรศักดิ์’ ลั่นร่าง รธน.ไม่ได้มโนเขียน พลิกดูเหตุการณ์ 10 ปีย้อนหลัง
‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ พาทัวร์ร่าง รธน.ฉบับปฏิรูป ไม่เหมือนที่ใดในโลก เน้นสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข โต้หัวหน้า ปชป.เสนอตัด คกก.ปรองดอง ระบุหากผลศึกษา คอป.ถูกนำมาใช้ เห็นด้วยไม่ต้องมี ถามกลับ คอป.ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลใดจะร่วมมือ
วันที่ 29 เมษายน 2558 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในเวที ‘การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภค’ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถึงประเด็นเด่นในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปว่า 315 มาตรา มีสาระสำคัญสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข
ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ มองเหลียวหลังในเรื่องนำชาติสู่สันติสุข เพราะจะปล่อยให้ความขัดแย้งเรื้อรังเกิดขึ้นอีกไม่ได้ ดังนั้นต้องกำหนดหลักการปรองดองไว้ในภาค 4
"แม้นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัด คณะกรรมการปรองดองออก ด้วยกังวลจะก่อให้เกิดความขัดแย้งนั้น ด้วยความเคารพ หากรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถูกนำมาใช้ ก็เห็นด้วยที่ไม่ควรมี แต่เมื่อ คอป.ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ถามว่ารัฐบาลคณะอื่นจะให้ความร่วมมือหรือไม่"
นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังมองเหลียวหลังเรื่องการเมืองใสสะอาดและสมดุล ซึ่งในอดีตการเมืองมีปัญหาอย่างไรไม่ต้องอธิบาย เพราะตระหนักอยู่แก่ใจ ปล่อยไม่ได้ ดังนั้นต้องปรับปรุง ทำให้การเมืองสมดุล ใสสะอาด กำหนดลักษณะนักการเมืองที่ดี มีคุณธรรม และจริยธรรม หนึ่งในนั้น คือ การบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง เอื้อให้หัวหน้าพรรคการเมืองสั่งซ้ายสั่งขวาได้ ซึ่งดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ระบุเป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญในอดีต จึงต้องบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 76 พยายามบังคับให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า กมธ.ยกร่างยังแลไปข้างหน้าด้วยการสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งมีความจำเป็น เพราะส่วนใหญ่การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง หากการเมืองภาคพลเมืองไม่เข้มแข็ง นักการเมืองก็จะทำอะไรก็ได้ การปฏิรูปจึงต้องทำเพื่ออนาคตของลูกหลาน ถ้าไม่อยากได้วรรณกรรมหนา ๆ ขึ้นบนหิ้งเหมือนที่ผ่านมา จะต้องเขียนบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ภาค 4 ซึ่งไม่มีที่ใดในโลก เพราะของไทยมีความพิเศษ หากไม่ทำจะกลายเป็นปัญหาของบ้านเมือง
พร้อมกันนี้ยกตัวอย่างการไม่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 50 ตั้งคำถามว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งคงไม่ทำ ดังนั้นจึงต้องบังคับให้ทำ
ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ซึ่งนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่า ปล้นอำนาจประชาชน ซึ่งหากอ่านให้ดีเป็นงานที่ต้องทำ ถ้าทำแล้วไม่เป็นไร แต่นักการเมืองไม่ทำ ทั้งนี้ เราไม่ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญจากการมโน แต่เขียนขึ้นจากเหตุการณ์ 10 ปีที่ผ่านมา
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เป็นประธาน คือ การผลักดันให้จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เกิดขึ้น เพราะหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบต้องการทำงานสบาย ๆ เหตุใดต้องมีผู้อื่นมาใช้อำนาจ จึงไม่สงสัยว่าทำไม 17 ปี กฎหมายยังไม่ออก แต่วันนี้ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอไปแล้ว และกำลังอยู่ในการพิจารณาของ ครม.
นอกจากนี้ยังผลักดันให้บัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 60 สิทธิผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง และเขียนชัดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และยังบัญญัติไว้ในมาตรา 292 (1) กรณีรัฐผูกขาดให้มีมาตรการป้องกันและคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ตลอดถึงการผลักดันให้กำหนดอัตราค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นวินาที
“คุณสารี อ๋องสมหวังและกมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเพียงภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มาจากทะเลให้เห็น แต่ผู้บริโภคจะเป็นกำลังสำคัญที่สุดของการผลักดันเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมด” ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว .