ไม่ใช่ใครก็เข้าได้ นักวิชาการด้านภัยพิบัติ ยันลงพื้นที่เนปาลต้องรู้ข้อมูลเชิงพื้นที่
นักวิชาการด้านภัยพิบัติชี้ยื่นมือช่วยเนปาลเหตุการณ์แผ่นดินไหวต้องเข้าใจภูมิศาสตร์และมีประสบการณ์ ระบุต้องปฏิบัติการได้ในความไม่พร้อมของพื้นที่-เผชิญกับเหตุการณ์อาฟเตอร์ช๊อคได้
เมื่อวันที่25 เมษายน ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้ระดมความช่วยเหลือเพื่อที่จะเข้าไปช่วยทั้งในส่วนของการค้นหารักษาผู้รอดชีวิต และในส่วนของการบรรเทาทุกข์
ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการส่งทีมช่วยเหลือเข้าไปประเทศเนปาลจากทั่วโลกว่า ปกตินั้นหลักการจัดการภัยพิบัติผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือจะต้องรู้จักข้อมูลพื้นที่ของปลายทางเสียก่อน หากทราบข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ก็จะทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
"ขณะนี้เหตุการณ์ในเนปาลผ่านมาแล้วกว่า 72 ชั่วโมง มากกว่าการค้นหาหรือช่วยชีวิตก็จะตามมาด้วยกระบวนการการบรรเทาทุกข์ ถามว่า การอยากเข้าไปช่วยเหลือในประเทศเนปาลที่หลายฝ่ายอยากเข้าไปช่วยนั้นสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ทุกคนหรือไม่ ต้องบอกว่า ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้น"
ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า คนที่ต้องเข้าไปในพื้นที่จะต้องเป็นคนที่เข้าไปแล้วสามารถปฏิบัติการได้ ขนของเข้าไปได้ตามความต้องการในพื้นที่นั้น และสามารถทำงานตามระบบในพื้นที่ได้เลย นี่คือสิ่งที่ต้องการที่สุด ดังนั้นการรู้จักภูมิศาสตร์ของพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องพิจารณา 2 แบบ คือ 1.สนามบินลงได้หรือไม่ 2.ปลายทางรองรับการขนส่งหรือจัดจำหน่ายถ่ายของหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เห็นเลยว่า การจัดการเรื่องระบบโลจิสติกที่เนปาลมีปัญหา หลายประเทศบินไปแล้วไม่สามารถที่จะนำเครื่องลงจอดได้ และตอนนี้อเมริกากำลังจะเข้าไปช่วยจัดการในเรื่องระบบโลจิสติกส์
“การลงพื้นที่ภัยพิบัติผู้ที่จะลงพื้นที่ต้องมีข้อมูลของสถานที่นั้นๆพอสมควร ลงไปแล้วสามารถสวมกับระบบของเนปาลได้เลย เพราะท้องถิ่นเขาเสียหายมาก เจ้าหน้าที่น้อย ที่สำคัญประเทศเนปาลเป็นประเทศที่ไม่ได้ลงทุนเรื่องกันป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งก็เป็นปัญหามาจากฐานะของประเทศด้วยส่วนหนึ่ง”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายประเทศยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออย่างหนาแน่น ในขณะที่ระบบของเนปาลก็มีปัญหา ดังนั้นหากจะให้ดีเราควรให้เนปาลเซ็ทอัพระบบให้ดีก่อนทั้งในส่วนของระบบโลจิสติก สนามบิน หรือการแบ่งทีมลงพื้นที่จะได้จัดจำหน่ายกำลังพลลงพื้นที่ได้ทันทีและไม่เป็นภาระให้กับเนปาลมากนัก
"ที่สำคัญต้องเข้าใจปัญหาด้วยว่าที่เนปาลนั้นมีระบบข้อมูลการสื่อสารไม่เพียงพอ ไฟฟ้าไม่พอ คนลงพื้นที่ต้องปฏิบัติการในความไม่ครบของพื้นที่ได้ และควรเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการลงพื้นที่ยากๆและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอาฟเตอร์ช๊อค ส่วนทีมของไทยที่ส่งเป็นทหารไปเชื่อว่ามีความสามารถเฉพาะเจาะจง และจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในพื้นที่ที่กันดารและทหารมีทักษะเรื่องการอยู่รอด"
ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวด้วยว่า หากถามเรื่องการช่วยเหลือด้วยการบริจาคกับการช่วยเหลือเป็นสิ่งของนั้น การช่วยเหลือเป็นเงินจะทำได้ดีกว่าเพราะเขาสามารถเอาไปจัดการในพื้นที่ได้ แต่หากเรากังวลว่าช่วยไปแล้วจะเกิดการทุจริต กลัวคนไม่ได้ ในท้ายที่สุดก็จะเป็นการไม่ได้ส่งความช่วยเหลือ
กรณีหากมีความกังวลว่าเงินจะไปไม่ถึงนั้น นักวิชาการด้านภัยพิบัติ กล่าวว่า ให้ศึกษาองค์กรว่าองค์กรใดที่จะทุจริตน้อยสุดหรือมีโอกาสทุจริตได้ยากสุด เพราะการช่วยเหลือเป็นสิ่งของนั้นบางอย่างอาจจะเกินความต้องการของพื้นที่ เพราะต่างคนรู้ว่าขาดแคลนสิ่งนี้ก็ระดมส่งกันไป ถ้าส่งของเหมือนกันทั้งโลกก็จะกลายเป็นการกระจุกตัว ดังนั้นการช่วยเหลือทางด้านเงินเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก ซึ่งประเทศปลายทางก็จำเป็นที่ต้องมีระบบในการจัดสรรที่ดีด้วยเช่นกัน
ที่มาภาพ:https://twitter.com/CNNMex/status/593041585694117890/photo/1