ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษาหวั่นเเผ่นดินไหวเนปาลกระทบเด็กกำพร้าพุ่ง
'ดร.ปิติ ศรีเเสงนาม' เผยปี 2558 ประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญด้านคุ้มครองเด็ก หวั่นเเผ่นดินไหวเนปาลส่งผลมีเด็กกำพร้าเพิ่มเหมือนพายุนากีสถล่มเมียนมาร์ เเนะสร้างที่พำนักลี้ภัยครบวงจรตามเเนวพระราชดำริพระเทพฯ
วันที่ 28 เมษายน 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับโครงการศึกษาแนวทางเชิงนโยบาย (รูปแบบที่เหมาะสม) ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้าใจตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พิธีสารเลือกรับ และการคุ้มครองเด็กในอาเซียน ณ โรงแรม ที เค พาเลซ จ.นนทบุรี
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้ออาเซียนกับการทำงานด้านเด็กตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี 2558-2568 ประชาคมอาเซียนมีการผลักดันการคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ภายหลังก่อนหน้านี้มักหยิบยกเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ด้วยเป็นเรื่องปากท้อง การลงทุน สร้างรายได้ แต่นักวิชาการอาเซียนพยายามท้วงติงว่า การให้ความสำคัญเศรษฐกิจด้านเดียวไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมอย่างคุ้มค่าได้
แล้วการคุ้มครองเด็กตั้งอยู่ในเสาหลักใด ระหว่างการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา ระบุว่า การแก้ปัญหาเด็กไม่จำกัดเฉพาะด้านสังคมเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจด้วย หากประชาชนลืมตาอ้าปากได้ มีโอกาสเข้าถึงรายได้ ปัญหาส่วนหนึ่งจะหายไป ทั้งนี้ ควรอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจผ่านโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ แต่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปลงเว็บไซต์เท่านั้น
ดร.ปิติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีด้านความมั่นคง ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการรบหรือต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เป็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน บริหารจัดการสภาวะภัยพิบัติ และสิทธิมนุษยชน โดยยกตัวอย่าง เหตุการณ์พายุไซโคลนนากีสถล่มเมียนมาร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 3 แสนคน เด็กต้องกำพร้า ขาดแคลนที่พึ่งพิง และทำให้คนยากจนเกิดขึ้น นำมาสู่วงจรอุบาทว์ต้องขายลูกตัวเอง กระทบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน
"แน่นอนว่า เนปาล เป็นประเทศต่อไปที่ประสบปัญหาดังกล่าว เพราะเศรษฐกิจต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก ไม่มีการค้าขายหรือการผลิต เมื่อสิ่งท่องเที่ยวถูกทำลายไปจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะส่งผลกระทบให้มีเด็กกำพร้าและด้อยโอกาสจำนวนมาก เศรษฐกิจกำลังพัง และในอนาคตต้องพึ่งพิงเฉพาะเงินความช่วยเหลือจากต่างประเทศ นำมาฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างที่เสียหาย แต่ไม่รู้ว่าจะฟื้นคืนมาเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม แม้สร้างใหม่ก็ไม่เหมือนเดิม"
ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา กล่าวเพิ่มเติมถึงการแก้ปัญหา โดยยกโครงการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยพระราชทานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเมียนมาร์มาใช้ด้วยการสร้างที่พำนักลี้ภัย แต่พระองค์มองไกลไปมากกว่าการบรรเทาทุกข์ โดยทรงเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้มีเด็กกำพร้าและด้อยโอกาสจำนวนมาก จึงพัฒนาที่พำนักลี้ภัยเป็นโรงเรียนในการพัฒนาเด็กที่กำลังประสบปัญหาจากพายุไซโคลน .