สถานการณ์เด็กอาเซียนพบขอทาน ค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ เกลื่อนตะเข็บชายแดน
ปธ.มูลนิธิไลฟ์อิมแพคฯ เผยปัญหาเด็กแม่สอดตกในเงื้อมมือมาเฟียเมียวดี-อินเดีย หวังทุกฝ่ายร่วมแก้ไขจริงจัง
เร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับโครงการศึกษาแนวทางเชิงนโยบาย (รูปแบบที่เหมาะสม) ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้าใจตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พิธีสารเลือกรับ และการคุ้มครองเด็กในอาเซียน ณ โรงแรม ที เค พาเลซ จ.นนทบุรี
โดยในเวทีอภิปรายสถานการณ์เด็กในอาเซียน น.ส.ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน กล่าวว่า แม่และเด็กขอทานในกรุงเทพฯ ไม่ใช่กรณีค้ามนุษย์ทั้งหมด โดยเด็กเร่ร่อนต้องขอทาน เติบโตขึ้นเก็บขยะ ขายเรียงเบอร์ และขายบริการทางเพศ ซึ่งกล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบเจอทุกพื้นที่ แม้กระทั่งภูเก็ต ขอนแก่น ที่มีเด็กติดเชื้อเอชไอวี ควรได้รับการรักษา
จากข้อมูลพบว่า ในกรุงเทพฯ มีเด็กขอทานมากในพื้นที่นานา สุขุมวิท รังสิต ประตูน้ำ และมักพบเจอสม่ำเสมอ เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยอ้างว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย จึงกลายเป็นปัญหาตอนนี้
ด้าน Miss Lana Marie Vasguez ประธานมูลนิธิไลฟ์อิมแพค (ไทยแลนด์) เปิดเผยถึงสถานการณ์เด็กบริเวณชายแดนแม่สอด จ.ตาก ว่า จากการเก็บข้อมูลในช่วง 4 ปี ล่าสุด จาก 20 องค์กรที่ทำงานในพื้นที่ พบสถิติเด็กถูกทำร้ายทางร่างกาย 96 กรณี ถูกทำร้ายทางอารมณ์ 24 กรณี ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 115 กรณี ถูกแสวงหาประโยชน์ 22 กรณี ถูกละเลยเพิกเฉย 188 กรณี และอื่น ๆ เช่น การค้ามนุษย์ ใช้เป็นทาส ทอดทิ้งเด็ก ทำร้ายด้านอื่น ๆ เป็นต้น 511 กรณี รวมข้อมูลที่ได้รับรายงานทางการทั้งหมด 956 กรณี แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ยังไม่รับรายงาน
ประธานมูลนิธิไลฟ์อิมแพคฯ กล่าวถึงการใช้แรงงานเด็กว่า ใน อ.แม่สอดมีกองขยะขนาดมหึมา ซึ่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของเด็กราว 300 คน และจะประทังชีวิตด้วยการขุดขยะไปขายได้เงินวันละ 50-70 บาท บางครั้งถูกหลุมขยะดูดลงไปจนผิวหนังได้รับสารพิษ ซึ่งแพทย์ยืนยันว่า กรณีเหล่านี้เลวร้ายที่สุด เมื่อเทียบกับอินเดียหรือประเทศอื่น ๆ
อีกปัญหาหนึ่ง คือ การค้ามนุษย์ ยกตัวอย่าง ครอบครัวหนึ่งต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้การบังคับของกลุ่มมาเฟียนำลูกไปขายใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ลูกคนหนึ่งถูกฆ่า ส่วนเด็กที่ใช้แรงงาน หากขายไม่หมดจะถูกจับผูกข้อมือไว้ แล้วใช้คีมหนีบเนื้อหน้าท้องบิดไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เด็กคนอื่นกลัวไม่กล้าหนี ซึ่งต้องทำงานตั้งแต่ 3 ทุ่ม จนถึงตี 2 ได้ทานข้าวคนละ 1 กำมือ
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่อยู่บ้านได้รับเงินเข้าบัญชีเดือนละ 500 บาท ทำให้พยายามขายลูกต่อไป จนเมื่อตั้งครรภ์ไม่ได้แล้ว จึงหันไปขายยาบ้า และปัจจุบันแม่เด็กได้ติดคุก
Miss Lana กล่าวถึงการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก คดีเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวันและกลายเป็นปัญหาในการทำงานยากที่สุด ยกตัวอย่าง แม่ขายเด็กอายุ 4 ขวบ ในราคา 1,000 บาท ให้แก่มาม่าซัง เพื่อนำไปแสวงหาประโยชน์หาเงินให้ได้วันละ 70 บาท มิฉะนั้นจะถูกตี สุดท้าย เราสามารถช่วยเหลือมาได้ หรือกรณีทอดทิ้งเด็ก โดยมีแม่คนหนึ่งติดยาเสพติด ขายลูกสองคนให้เพื่อแลกกับบุหรี่ 1 ซอง
“เรากำลังพยายามเรียกร้องต่อสู้เรื่องความยุติธรรม แต่ทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาร์ไม่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจน” ประธานมูลนิธิไลฟ์อิมแพคฯ กล่าว และว่ามาเฟียมักอยู่ในย่านเมียวดีและกลุ่มค้าเด็กชายแดนมากรุงเทพฯ คือ ชาติอินเดีย ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญ คือ เมื่อช่วยเหลือเด็กได้แล้ว ภาครัฐกลับไม่ช่วยเหลืออะไรเลย จึงคิดว่า การให้กฎหมายคุ้มครองเด็กเป็นสิ่งยากมาก
ขณะที่น.ส.นุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ กล่าวว่า เด็กตามแนวชายแดนมักถูกมองสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้ตั้งแต่เกิดจนอายุเริ่มต้นค้ามนุษย์ได้ ดังนั้น การทำงานกับเด็กชายขอบพื้นที่แม่สาย จ.เชียงรายต้องเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์และสร้างให้เกิดคุณค่าทางสังคม เพราะความจริงแล้ว เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับชีวิต ไม่ทราบว่าเกิดมาเพื่ออะไร ซึ่งปัจจุบันปัญหาต่าง ๆ ไม่เคยลดลง
นอกจากนี้เด็กชายขอบถูกล่วงละเมิดสิทธิชัดเจน โดยเฉพาะการจับกุมเด็กขอทาน ซึ่งพื้นที่แม่สายมีจำนวนมากถึง 3,000 คน แฝงตัวในรูปแบบขายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าเถื่อน เช่น ยาไวอาก้า ขอหนีภาษี หรือยาเสพติด มีรายได้ 200-300 บาท/วัน เมื่อเติบโตขึ้นจะกลายเป็นเอเย่นต์รายใหญ่แทน อย่างไรก็ตาม การจับกุมไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เป็นเพียงวิธีการคัดกรองเท่านั้น
“แม่ เด็กผู้หญิง และผู้พิการทางสมอง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นแล้ว 5 กรณี ทั้งนี้ หากนโยบายภาครัฐยังมุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเขตชายแดน โดยละเลยคุณภาพชีวิตประชาชน ผลกระทบจะเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด เด็กถูกทอดทิ้ง ดังนั้นไทยต้องเตรียมกำลังพลรองรับ เพราะขณะนี้ครูข้างถนนมีจำนวนน้อยเกินไป หากเกิดกรณีแผ่นดินไหวในเมียนมาร์ ซึ่งทำให้เด็กกำพร้าราว 3,000 คน ทะลักเข้ามาทางฝั่งท่าขี้เหล็ก” ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ กล่าว
ขอทาน 90% เกิดจากแรงผลักดันทางศก.
สุดท้าย นางวุฒิยา เจริญผล กล่าวถึงสถานการณ์เด็กบริเวณชายแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ว่า อาเซียนเกิดขึ้นมานานแล้ว การเดินทางข้ามแดนเกิดจากแรงผลักดันจากประเทศต้นทางและแรงดึงดูจากประเทศปลายทางที่อุดมสมบูรณ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพความมั่นคั่งนั้น โดยเน้นเงินเป็นหลัก โดยลืมสังคมและวัฒนธรรม
“ความยากจนฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา เกิดจากประชาชนไม่มีงานทำหรือกิจกรรมสร้างเสริมรายได้เหมือนไทย ดังนั้นการเคลื่อนย้ายถิ่นจึงเกิดขึ้น ทำให้ทุกคนต้องข้ามแดนเข้ามาทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพื่อหารายได้กลับไปเลี้ยงครอบครัว” นางวุฒิยา กล่าว และว่า กลุ่มขอทานที่เข้าใจมาจากชายแดน จริง ๆ แล้วมาจากเมืองรอบปอยเปตมากกว่า เพราะจังหวัดต่าง ๆ ของกัมพูชาแห้งแล้งกว่าภาคอีสานของไทยทำให้เกิดแรงผลักเข้ามาขอทานในกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ดีกว่า
นางวุฒิยา กล่าวว่า การขอทานไม่ใช่การค้ามนุษย์ทั้งหมด โดย 90% เกิดจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถสร้างรายได้มากกว่าการขอทานในกัมพูชามาก ปัจจุบันเด็กขอทานได้ประมาณ 700-1,000 บาท/วัน และฤดูกาลท่องเที่ยวมากถึง 1,200 บาท/วัน เมื่อเฉลี่ยรายได้ต่อเดือนได้รับมากกว่าพนักงานทั่วไป จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญกล้าเสี่ยงเข้ามาขอทานในกรุงเทพฯ
“ภาคีเครือข่ายไทยและกัมพูชาต้องผลักดันมาตรการคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิด หรืออันตรายอื่น ๆ โดยเพิ่มมาตรการป้องกันจากประเทศต้นทางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ควรเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องสร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกันในระดับชาติ ทั้งภาครัฐ และประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” นางวุฒิยา กล่าว .