ข้อเสนอถึงอธิบดีกรมประมงส่งต่อครม. "ไทยจะปลดล็อคใบเหลือง EU ได้อย่างไร"
การที่พยายามจะปลดล็อคหลายๆ วิธีที่ไม่มองถึงความยั่งยืนหรือเลี่ยงบาลีไปจดทะเบียนเรือ (ซึ่งก็คือการนิรโทษกรรม) อียูเขาไม่ได้โง่ เขาจะมีมาตรการตรวจสอบ
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ติดตามมาตรการเพื่อหาทางปลดล็อคใบเหลือหนีใบแดงจากสหภาพยุโรป (EU) แล้วพบว่า ประเทศไทย กรมประมง ยังมีจุดอ่อนที่อยากจะให้มีการทบทวนหรือคิดให้รอบคอบมากกว่านี้ ดังนี้
1.ข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับทะเลไทยอย่างคร่าวๆ รัฐบาลที่มาจากนายทหารจะมีความรู้ มีข้อมูลที่สำคัญๆมากน้อยแค่ไหน เช่น อาชีพประมงทั้งประเทศ 3 แสนกว่าครอบครัว ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 23 จังหวัดที่ติดชายฝั่งทั่วประเทศทั้งอันดามันและอ่าวไทยนั้น ในวันนี้สถานการณ์ของอาชีพและชุมชนประมงตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไร
2.กรมประมงที่เห็นปัญหานี้ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งของชุมชนประมงพานิชย์และประมงพื้นบ้าน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องต่างๆ ในส่วนประมงพานิชย์ ไม่ห่วง เพราะพวกเขามีข้อเสนอจากสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ประมงนอกน่านน้ำหรือกลุ่มส่งออกเขาเสนอโดยองค์กรของพวกเขาได้อยู่แล้ว
แต่ในส่วนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของอาชีพนี้ คือชาวประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ กรมประมงได้พยายามหยุดการทำลายล้างทะเล โดยเฉพาะการหยุดเครื่องมือทำลายล้าง เช่น ออกมาตรการหยุดต่ออาชญาบัตรและทะเบียนเรือเมื่อปี 2523 แต่ถูกนักกการเมืองที่ผ่านมานิรโทษกรรมให้มีการกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 5 ครั้ง จนอาชีพประมงพื้นบ้านล่มสลาย หรือกรณีการทำการประมงด้วยการใช้แสงไฟล่อก็เคยมีการระงับใช้ไปแล้ว แต่ก็มีนักการเมืองแก้ไขให้กลับมาทำได้อีกเมื่อปี 2539 หลักฐานพวกนี้อธิบดีกรมประมงต้องทำเป็นเอกสารแนบให้คณะรัฐมนตรีรับรู้ให้หมด ก่อนที่จะตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา
3.กรณีการทำการประมงเกินศักยภาพของทะเลไทย โดยเฉพาะการทำอวนลาก ที่ทางกรมประมงได้ทำวิจัยร่วมกับ FAO แล้วเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี2547 ว่า ประเทศไทยจะต้องลดจำนวนเรืออวนลากลง 40% ถึงจะพอดีกับศักยภาพทะเลไทย และถ้าให้ทะเลฟื้นตัวจะต้องลดลงถึง 50% งานวิจัยชิ้นนี้ท่านต้องนำมาให้ครม.ได้รับทราบ
4.งานวิจัยของกรมประมงที่เคยทำไว้ตั้งแต่ปี 2504 เรื่อยมาถึงปัจจุบันกรณีความเสื่อมโทรมของทะเลที่กรมประมงเคยสำรวจไว้แล้วพบว่า ปี2504 เคยลากปลาได้ 298กิโล/ชม. ปี2525 เหลือ 49กิโล/ชม ปี2534 เหลือ 23กิโล/ชม.และปี 2549 เหลือ 14กิโล/ชม.ข้อมูลเหล่านี้ี้ครม.จะต้องรับทราบ
5.อาจจะมีรัฐมนตรีบางท่านที่สัมพันธ์อยู่กับธุรกิจอาหารสัตว์ ซึ่งเชื่อมโยงกับอวนลากที่เป็นวัตถุดิบทำปลาป่นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำการประมงแบบทำลายล้าง ท่านอธิบดีก็หยิบเอางานวิจัยของกรมประมงที่เคยทำไว้ไปอธิบายโดยเฉพาะการทำอวนลากที่ทำร้ายทะเล ท่านเอาบทสรุปสั้นๆจากงานวิจัยที่พบว่า ในแต่ละปีมีการนำปลาเล็กๆจากอวนลากมาทำปลาป่นถึง 1.5ล้านตัน องค์ประกอบของปลาที่นำมาทำปลาป่นที่พบว่า มีปลาจากอวนลากที่นำมาบริโภคได้แค่ 33.3% เท่านั้นอีก 66.7% ส่งเข้าโรงงานปลาป่น ซึ่งใน 66.7% มีปลาเศรษฐกิจอยู่ถึง 301%น ำบทคัดย่อของงานวิจัยชิ้นนี้แจ้งให้ที่ประชุมครม.ได้รับทราบ
5.ในส่วนสุดท้ายมี 2 เรื่องที่สำคัญต่อกรณีมาตรการของอียู หากประเทศไทยต้องโดนใบแดงจะกระทบต่อธุรกิจกี่ชนิด/มีมูลค่าเท่าไหร่ และเป็นของคนกลุ่มไหนกี่กลุ่มจำนวนผู้ที่จะได้รับผลกระทบมีใครบ้าง และมีประเทศไหนที่โดนใบแดงไปแล้วบ้าง มีประเทศไหนที่ไม่โดนและแก้ไขยังไง
อย่างกรณีของอินโดนีเซียที่เขาออกประกาศยกเลิกเรืออวนลากทุกชนิดไปเมื่อ 9 มกราคม2558 ที่ผ่านมา ทำให้เขารอดใบเหลือและไม่โดนใบแดง ครม.ก็ต้องรับรู้
การที่พยายามจะปลดล็อคหลายๆ วิธีที่ไม่มองถึงความยั่งยืนหรือเลี่ยงบาลีไปจดทะเบียนเรือ (ซึ่งก็คือการนิรโทษกรรม) อียูเขาไม่ได้โง่ เขาจะมีมาตรการตรวจสอบ หากพบว่า เราทำแค่ให้ถูกกฎหมายแต่ยังปล่อยให้มีการทำร้ายแหล่งอาหารของมนุษยชาติ ในอนาคตเราก็จะโดนจนได้
การยกเลิกเครื่องมือทำลายล้างย่อมมีผลกระทบ ที่รัฐบาลต้องมีมาตรการต่างๆ รองรับ เช่น การเยียวยาหรือบางอย่างต้องใช้มาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อคนส่วนใหญ่และรักษาอาชีพประมงไว้