รองนายกฯ เล็งขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี
รองนายกรัฐมนตรีหนุนขยายอายุเกษียณงาน ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญนโยบายผู้สูงอายุ ด้านนักวิชาการประชากรศาสตร์ระบุสร้างหลักประกันเงินออมวัยแรงงานต้องมีวินัยในการบริหารเงิน ขณะที่รองปลัดกระทรวงแรงงานชี้ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดรับตลาดยุคดิจิตอล
27 เมษายน 2557 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดเวทีนโยบายสาธารณะ “มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ” ณ ศูนย์ประชุมวายุภัค โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ศักยภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย กับการพัฒนาประเทศ”และยังมีการเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางการทำงานของผู้สูงอายุ”
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวตอนหนึ่งว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเรื่องของการออมก็มีการผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมตั้งแต่ในช่วงอายุยังน้อย ทั้งนี้หวังจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องการเกษียณอายุที่หลังจากเกษียณการทำงานแล้วมีปัญหาไม่มีเงินออมดังที่ผ่านมา
นอกจากนี้รัฐบาลยังจะมีการผลักดันในเรื่องการเพิ่มเบี้ยของผู้สูงอายุโดยขณะนี้ได้ให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่าอาจจะมีการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุให้มากขึ้นกว่าเดิม และยังเห็นว่า อายุในการเกษียณนั้นจากเดิม 60 ปี ควรจะปรับมาเป็นที่ 65 ปี
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการพิจารณาว่าอาจจะมีการยืดขยายเวลาเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี โดยข้อมูลกองทุนผู้สูงอายุพบว่า มีผู้สูงอายุกว่า 30% มีศักยภาพที่จะทำงานและพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าวรัฐบาลจึงมีแนวนโยบายที่จะส่งเสริมอาชีพ การศึกษา ระบบไอที เพื่อเป็นการพัฒนาผู้สูงอายุ
"นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการปรับทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อ ผู้สูงอายุ เช่น ไม่ต้องทำงานลูกหลานเลี้ยงได้ เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยผ่านนโยบาย 3 รับ คือ รับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องรู้จักการปรับตัวเรื่องการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น และรู้จักการออกกำลังกาย เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดีอยู่ตลอดเวลา รับสถานการณ์อนาคต มีวินัยในการออม เพื่อให้มีเงินที่พอใจหลังการเกษียณ และ ต้อนรับสังคมสูงวัย รู้จักพลิกวิกฤติเป็นโอกาส"
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือการปรับทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อ ผู้สูงอายุ เช่น ไม่ต้องทำงานลูกหลานเลี้ยงได้ เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยผ่านนโยบาย 3 รับ คือ รับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องรู้จักการปรับตัวเรื่องการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น และรู้จักการออกกำลังกาย เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดีอยู่ตลอดเวลา 2. รับสถานการณ์อนาคต มีวินัยในการออม เพื่อให้มีเงินที่พอใจหลังการเกษียณ และ 3. ต้อนรับสังคมสูงวัย รู้จักพลิกวิกฤติเป็นโอกาส
ด้านรศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเส้นทางการทำงานของผู้สูงอายุ ว่า ส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุในประเทศไทย 60-70 % จะได้รับเงินจากลูกหลาน และมีจำนวนหนึ่งที่ทำงานพึ่งพาตนเอง ดังนั้นในอดีตรายได้หลักของผู้สูงอายุจึงมาจากลูกหลานเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น หากถามว่า วันนี้กลุ่มวัยแรงงานมีความต้องการที่จะเกษียณอายุงานก่อนกำหนด ในขณะที่รัฐบาลพยายามจะขยายหรือยืดอายุในการทำงานนั้น การจะเกษียณอายุก่อนกำหนดหรือเร็วขึ้นจะต้องมีหลักประกันทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ มีแหล่งรายได้ที่มั่นคงที่สำคัญจะต้องรู้จักบริหารจัดการเรื่องเงินเป็นอย่างดี
"ไม่แน่ใจว่าแรงงาน 36 ล้านคนในประเทศไทยจะสามารถทำแบบนั้นได้ทุกคนหรือไม่ และจะรู้จักวางแผนชีวิตอนาคตและการเงินได้มากน้อยแค่ไหน"
รศ.ดร.วรเวศม์ ยกกรณีตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นเส้นทางการทำงานของผู้สูงวัยที่ญี่ปุ่นนั้น เป็นการเรียกร้องของนายจ้าง คือนายจ้างมีความต้องการที่จะให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการทำงานสามารถทำงานได้ต่อ รัฐบาลจึงมีการยืดอายุการทำงานที่อายุ 70 ปี ส่วนปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความต้องการออกจากงานก่อนเกษียณอายุนั้นส่วนใหญ่จะพบในลูกจ้างที่ทำงานในโรงงาน
ขณะที่นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงตลาดการทำงานของผู้สูงวัยในระบบของการจ้างงานนั้นมีผลต่อนายจ้าง การจะจ้างคนสูงวัยทำงานต่อหรือไม่ของภาคแรงงานนั้นจะต้องคำนึงถึง การคุ้มครองแรงงาน การเอื้อประโยชน์ต่อนายจ้าง ความปลอดภัยในการทำงานที่อยู่ในระบบของการจ้างงานล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการทั้งสิ้น เนื่องจากจะส่งผลผูกพันต่อค่าใช้จ่ายเรื่องค่าตอบแทน ความปลอดภัยทำแล้วมีอันตรายเกิดขึ้นหรือไม่ หากเกิดขึ้นเกิดจากสภาพร่างกายของผู้สูงวัย หรือเกิดจากนายจ้าง ดังนั้นหากจะเดินหน้าขยายอายุจำเป็นที่จะต้องวางแนวทางในเรื่องนโยบาย กฎหมายระเบียบของผู้สูงอายุ เงื่อนไข ค่าจ้าง เวลาพัก รวมทั้งต้องดูตลาดแรงงานด้วยว่าแบบใดที่เหมาะกับผู้สูงอายุแบบไหน
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า สถานประกอบการในยุคนี้และในอนาคตจะเข้าสู่แรงงานยุคดิจิตอล ดังนั้นการทำงานต้องสัมผัสกับระบบคอมพิวเตอร์ การติดต่อสื่อสาร ซึ่งกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานของผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบการจ้างงานเพื่อให้สอดรับกับตลาดในอนาคต แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะทำอย่างไร ต้องมีเงื่อนไขในการรับเข้ามาทำงานหรือไม่ว่าอาจจะต้องมีใบรับรองสุขภาพ โดยเฉพาะในระบบราชการที่อาจจะยืดอายุการทำงานไปถึง 70 ปี และอายุเป็นอุปสรรคหรือไม่ ทั้งนี้ก็อยู่ที่เงื่อนไขที่จะต้องมาวางแนวทางในการกำหนด รวมถึงผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพอิสระกรมพัฒนาฝีมือแรงงานอาจต้องเน้นการฝึกฝีมือให้มากขึ้น โดยจะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในชุมชน ท้องถิ่น ตำบล ที่จะต้องมาร่วมกันวางแนวทางพัฒนา
“ความสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือความพอเพียงของรายได้ของผู้สูงอายุ ซึ่งคำว่าพอเพียงนี้แบบใดถึงเรียกว่าพอเพียง ต้องได้รับสวัสดิการส่งเสริมเท่าใด ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดเช่นเดียวกัน”