ทีดีอาร์ไอถอดบทเรียนอียู-ญี่ปุ่น บูรณาการระบบบำนาญแห่งชาติไทย
ทีดีอาร์ไอ แถลงผลศึกษา “การบูรณาการระบบบำนาญของประเทศไทย” เสนอตั้ง “คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” ภายใต้พระราชบัญญัติที่ชัดเจน เชื่อช่วยเชื่อมต่อระบบที่มีอยู่อย่างแยกส่วนได้
วันที่ 24 เมษายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ แถลงผลการศึกษา “การบูรณาการระบบบำนาญของประเทศไทย” โดยดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นายยศ วัชระคุปต์ และนายพสิษฐ์ พัจนา ร่วมนำเสนอกรอบและผลการศึกษา ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
คณะวิจับ พบว่า “ระบบบำนาญแห่งชาติ” เป็นเรื่องสำคัญและมีความพยายามผลักดันจากหลายภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ แต่ปัญหาคือทำอย่างไรจึงจะบูรณาการระบบบำนาญของประเทศไทยซึ่งมีอยู่หลายระบบ ทั้งเริ่มต้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน มีการสมทบและสิทธิประโยชน์ที่ต่างกัน อีกทั้งไม่สามารถเชื่อต่อระบบบำนาญได้
ขณะที่หน่วยงานแต่ละแห่ง ก็มีคณะกรรมการกำกับดูแล (board) หรือผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลเป็นของตัวเอง ทำให้การดำเนินนโยบายของหน่วยงานแต่ละแห่งเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ และไม่สอดคล้องกัน
ดร.วรวรรณ กล่าวถึงการเข้าไปศึกษาระบบบำนาญของประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นการแบ่งคนที่อยู่ภายใต้ระบบบำนาญ ซึ่งโครงสร้างคล้ายของประเทศไทย แต่ระบบบำนาญญี่ปุ่นบูรณาการได้ คนมีหลักประกันขั้นพื้นฐานทัดเทียมกัน มีความครอบคลุมคนทั้งประเทศ และความต่อเนื่องของการเป็นสมาชิก มีการกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง
ขณะที่ระบบบำนาญของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ประกอบด้วยหลากหลายประเทศสมาชิก ทำไมมีนโยบายสอดคล้องกัน ทำไมถึงสร้างกลไกบูรณาการระดับภูมิภาคได้
สำหรับประเทศไทย แบ่งตามกลุ่มอาชีพ มีหน่วยงานของรัฐดูแลอยู่ แต่เราขาดกลไกเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอาชีพ การขาดความเชื่อมโยงระหว่างระบบสวัสดิการนั้นจะส่งผลเสียกับประชาชน เนื่องจากเมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนไปเข้าระบบใหม่จะต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นการสะสมเงิน ในที่สุดทำให้ความมั่นคงในวัยเกษียณ
งานศึกษาชิ้นนี้ได้เข้าไปดูรูปแบบคณะกรรมการต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) ถึงนำมาสู่ข้อเสนอระบบบูรณาการบำนาญของประเทศไทยควรเป็นอย่างไร จนมีข้อเสนอแนะให้ตั้งคณะกรรมการกลาง ที่เข้ามาดูแลด้านนโยบายและกำกับหน่วยงานที่ให้บริการบำเหน็จบำนาญ ชื่อ “คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” การแต่งตั้ง ควรอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติที่ชัดเจน เหมือนกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (พ.ร.บ.ธปท.) หรือคณะกรรมการผู้สูงอายุ (พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ) เพื่อความเป็นเอกภาพในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์บำเหน็จบำนาญของประเทศ
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการมีจำนวน 13 คน มาจากหลายภาคส่วน ทั้งนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการกองทุนการออมแห่งชาติ ผู้แทนในส่วนของผู้ประกันตน (ข้าราชการ ลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ) ส่วนละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการเงิน บริหารธุรกิจ หรือการบัญชี จำนวน 3 คน