พรรคการเมืองจี้กมธ.ยกร่างฯทบทวนรธน.ย้อนยุค-จำกัดสิทธิปชช.
พรรคการเมืองประสานเสียงติงรธน.ย้อนยุค-จำกัดสิทธิปชช. จี้ กมธ.ยกร่างทบทวน หวั่นเกิดปัญหา - กมธ.ยกร่างฯยืนยัน ออกแบบเพื่อปชช.60ล้านคน สู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง
วันที่ 24 เมษายน 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดอภิปรายราชดำเนินเสวนา เรื่อง “ปฏิรูปเลือกตั้ง...ถอยหลังหรือเดินหน้า โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เข้าร่วมอภิปราย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยไปสู่ระบบการเมืองแบบ 2 พรรค และทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง แต่ขณะนี้กำลังมีการออกแบบรัฐธรรมนูญพาประเทศย้อนยุคให้สภากลายเป็นเบี้ยหัวแตก ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และเปิดช่องทางให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้
“ผลที่จะได้จากรัฐธรรมนูญคือ 1.จะได้รัฐบาลผสมเบี้ยหัวแตก 2.อาจจะได้นายกรัฐมนตรีที่เหลิงอำนาจ โกงแล้วหนีอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีอำนาจเสนออภิมหาพระราชกำหนด พรรคร่วมถอนตัวได้ยาก 3. การตรวจสอบในสภามีข้อจำกัด 4. ประชาชาจะเข้าใจว่าระบบการเมืองไร้ประสิทธิภาพ แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย และ5. วงจรอุบาทว์อาจจะย้อนกลับมา”
นอกจากนี้ ระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ยังเป็นการจำกัดสิทธิ์ประชาชนโดยระบุว่านอกจากเลือกส.ส.เขตและเลือกพรรคการเมืองแล้ว ยังอาจจะจัดลำดับบัญชีรายชื่อหรือเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมได้ แต่ระบุให้เพียงคะแนนเดียว
“ถ้าประชาชนเป็นใหญ่เพิ่มอำนาจประชาชน ทำไมไปจำกัดอำนาจประชาชนให้ลงได้คนเดียว ทำไมไม่ให้สิทธิ์เขาเลือกให้ครบจำนวน หรือจะใช้สิทธิ์น้อยกว่านั้นก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่เขาจะเลือก แต่ไม่ควรไปจำกัดสิทธิ์เขาไม่ให้เลือกเต็มจำนวน แล้วจะเรียกว่าเพิ่มอำนาจประชาชนได้อย่างไร”
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มอำนาจประชาชนจริง แต่ก็มีไม่น้อยที่เพิ่มอำนาจให้สารพัดองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้มาจากประชาชน จึงอยากกรรมาธิการยกร่างฯรับฟังและกลับไปทบทวน แล้วรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นที่ยอมรับ
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภาพรวมกระบวนการเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าเป็นห่วงและอาจจะมีปัญหามาก เพราะได้รื้อทั้งหมดและคิดเป็นนวัตกรรมใหม่ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
“กระบวนการเลือกตั้งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ให้นักการเมืองกลายเป็นผู้ร้าย และเมื่อกติกาประเทศมีปัญหาถึงทางตัน สุดท้ายวงจรอุบาทว์ก็กลับมา จนอาจนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง”
ด้านนางสุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่า จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดประชาชนไปก่อนหน้านี้ ประชาชนชอบระบบโอเพ่นลิสต์และอยากเป็นคนจัดลำดับเองเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่พรรคการเมืองจัดมาให้เลือกอย่างเดียว
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯออกแบบร่างรัฐธรรมนูญด้วยการมองภาพรวมทั้งโครงสร้างที่จะต้องเชื่อมโยงเจตนารมณ์ให้พลเมืองเป็นใหญ่ เกิดการเมืองสมดุลใสสะอาด ลดความเหลื่อล้ำ และเกิดความปรองดองเข้าด้วยกัน ซึ่งระบบการเมืองเพียงอย่างเดียวแก้ปัญหา 4 เรื่องดังกล่าวไม่ได้
ดังนั้น การออกแบบทั้งโครงสร้างเช่นนี้เพื่อจะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง ไม่สามารถพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วบอกว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ยังมีโอกาสและเวลาที่จะพิจารณาข้อเสนอใหม่ๆที่สร้างสรรค์ มีเหตุผลเพื่อนำไปปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก้าวข้ามการเมืองเชิงสถาบัน
“รัฐธรรมนูญนี้ทำเพื่อประชาชน 60 กว่าล้านคน ไม่ใช่เพื่อประชาชนไม่กี่คน เราต้องมองผู้มีส่วนได้เสียทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้น ดังนั้นการออกแบบรัฐธรรมนูญจึงมองกว้างและลึก ซึ่งหากจะปฏิรูปแล้วไม่กล้า ก็จะไปไม่ถึง เพราะวันนี้ประชาชนเดินหน้าไปไกลแล้ว อย่าดูถูกประชาชน”
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งประเด็นก้าวหน้าและถอยหลังที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง
สำหรับประเด็นก้าวหน้า ได้แก่ การกำหนดให้ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 250 คน,การคำนวณส.ส.โดยใช้จำนวนที่ได้จากบัญชีรายชื่อเป็นหลัก , หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกประเทศต้องลงทะเบียนแสดงความจำนงก่อนใช้สิทธิ
ส่วนประเด็นถอยหลัง อาทิ การสรรหาและการเลือกตั้งส.ว. การให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง(กจต.) ทีประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งจากข้าราชการในแต่ละหน่วยงาน การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นอำนาจของศาล ฯลฯ
“โดยรวมของประเด็นการปฏิรูปการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถอยหลังเรื่องการเลือกตั้งไป 30 ปี”นายสมชัย กล่าว
ขอบคุณภาพจาก www.tja.or.th