เราวิ่งไม่ได้! นายกสมาคมธุรกิจไม้โอด กม.สวนป่าผูกแขนขาคนไทย ทำยอดขายหด
นายกสมาคมธุรกิจไม้ชี้ พ.ร.บ.สวนป่า ผูกแขนขาคนไทย ทำยอดขายเฟอร์นิเจอร์ไม่เข้าเป้า 1 แสนล้านบาท แพ้มาเลเซีย-อินโดฯ-เวียดนาม อดีต รมว.วิทย์ฯ ท้ารัฐบาลดันไม้สวนป่าเป็นพืชเกษตร เลิกยุ่งในที่ดินกรรมสิทธิ์ ลั่นห้ามมี กม.ควบคุม เชื่อมีคนปลูกต้นไม้มากขึ้น
วันที่ 24 เมษายน 2558 กรมป่าไม้ ร่วมกับคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดประชุมการป่าไม้ ครั้งที่ 1 เรื่อง ป่าไม้ไทย ใครกำหนด เป็นวันที่ 3 ณ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
โดยในครั้งนี้มีการจัดเสวนา ‘ไม้เศรษฐกิจไทย เมื่อไร่จะถึงฝั่งฝัน’ นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจนามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ เปิดเผยถึงภาพรวมยอดจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ว่า ในปี 2543 ไทยมีรายได้ 5 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยตั้งเป้าในปี 2553 จะสร้างรายได้ 1 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่า ปัจจุบันรายได้กลับลดลงเหลือ 3.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่มาเลเซีย 9 หมื่นล้านบาท อินโดนีเซีย 1.2 แสนล้านบาท และประเทศนอกสายตาอย่างเวียดนาม 1.5 แสนล้านบาท
“วันนี้ไทยจะคิดว่าตัวเองเก่งไม่ได้แล้ว ต้องหันมาศึกษาข้อเท็จจริง ถึงสาเหตุทำให้รายได้ลดลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับค่าแรงต่ำ” นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าว และว่าปัญหาเดียว คือ ติดขัดเรื่องกฎหมาย แม้เราลงทุนก่อสร้างถนนเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ แต่กลับห้ามค้าขาย ทำให้ไทยไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเท่ามาเลเซียและเวียดนาม
เมื่อติดขัดเรื่องกฎหมาย ผู้ปลูกสวนป่าจะขายให้ใคร นายจิรวัฒน์ ระบุว่า ขายในกลุ่มกันเอง เพราะโรงงานแทบจะปิดตัวแล้ว อุตสาหกรรมหันมาพึ่งไม้ยางพารา ที่สำคัญ ผู้ลงทุนรายใหญ่ในต่างประเทศมาปลูกในเมืองไทยไม่ได้ เพราะต้องการขายไม้ 1 กอง ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจ่ายภาษีร้อยละ 40 ขณะที่ทั้งโลกขายกันสนุก แต่ไทยขายไม่ได้ ต้องขายกันเอง ฟังแล้วเศร้า
นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวเห็นด้วยกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไข ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เนื้อหากลับไม่ให้ความสำคัญเรื่องการตลาด ทั้งที่เกมนี้ต้องทำอย่างไรให้เกิดตลาด ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำอย่างเดียว คือ หาโอกาสทางตลาด ซึ่งสร้างด้วยด้วยการผลักดันกฎหมาย ถ้าไม่แก้ไขเดินอย่างไรก็ติด เราวิ่งไม่ได้ เพราะโดนผูกแขนขา แม้จะขายให้ภาคอุตสาหกรรมได้ แต่ถือว่าอ่อนแอ
“ถ้าไทยอยากได้ป่าไม้เต็มบ้านเต็มเมืองต้องให้ความอิสระ เพราะคนจะแย่งกันปลูก และจะตามทันมาเลเซียและอินโดนีเซียภายใน 5 ปี” นายจิรวัฒน์ กล่าว
ด้านนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลต้องกล้าหาญและจริงใจในการผลักดันไม้สวนป่าเป็นพืชเกษตร ขีดเส้นให้ชัดเจนพื้นที่ใดเป็นป่า พื้นที่ใดเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ และเมื่อส่งเสริมเอกชนปลูกป่าแล้วก็อย่าไปยุ่งไม่ว่าจะปลูกหรือตัด หากที่ดินผืนดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาปรากฏว่า รัฐเข้าไปยุ่งกำหนดชื่อไม้หวงห้าม บังคับใช้กฎหมาย ทำให้ปลูกแล้วตัดไม่ได้ ฉะนั้นต้องห้ามมีกฎหมายควบคุม ทุกคนก็จะปลูกต้นไม้กันเอง
ขณะที่นายสุเมธ จันษร รักษาการ ผอ.สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัจจุบันเปิดโอกาสให้ชุมชนรอบพื้นที่ป่าเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชน โดยสนับสนุนให้ทุกชุมชนสามารถอนุญาตพื้นที่ป่ารอบ ๆ หมู่บ้าน ชุมชนละ 20-50 ไร่ เพื่อให้ปลูกไม้เศรษฐกิจใช้สอยในพื้นที่ หากประสบความสำเร็จจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศและเพิ่มปริมาณไม้ใช้สอยได้
สุดท้าย ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก นายกสมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว กล่าวเปรียบเทียบสัตว์สองชนิดที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์กับไม่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ พบว่า ‘สมัน’ สูญพันธุ์เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ ‘จระเข้’ พันธุ์ไทยยังมีเหลืออยู่ในฟาร์ม 7 แสนตัว แต่เหลืออยู่ในป่าไม่ถึง 20 ตัว และสิ่งที่จะตามมา คือ อนาคตเสือโคร่งอาจสูญพันธุ์เหมือนสมันด้วย
นายกสมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว ยังกล่าวว่า หากไม่เปลี่ยนแปลงกลไกหรือเครื่องมือไปสู่ความสำเร็จของประเทศนี้ โดยการเลิกวิธีแบบเดิมจะรู้สึกกังวลมาก ทั้งนี้ พื้นที่ของรัฐใช้ พ.ร.บ.สวนป่า ได้ แต่ใช้กับพื้นที่เอกชนไม่ได้ พร้อมกันนี้ ควรจัดตั้งกองทุนส่งเสริมไม้เศรษฐกิจครบวงจร และต้องมีกลไกติดตามประเมินผลอย่างโปร่งใสด้วย .
ภาพประกอบ:www.lookforest.com