เวทีเสวนาศาลฯ ชำแหละร่างรธน.ใหม่ นักวิชาการหวั่น"สื่อ"ถูกแทรกแซง
นักวิชาการ-คอลัมนิสต์ วิพากษ์ประเด็นปฏิรูปสื่อ หวั่น กม.จัดตั้งองค์กรวิชาชีพเปิดช่องคนนอกมีส่วนร่วม อาจเกิดการแทรกแซง ด้านคอลัมนิสต์รุ่นใหญ่หนุนปฏิรูป แนะสื่อเพียงมีหน้าที่นำเสนอความจริง อย่าหลงตนว่าเป็นอภิสิทธิ์ชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่24 เม.ย. 2558 ที่โรงแรมดีวาน่าจ.กระบี่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดเสวนา หัวข้อ"ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : ทิศทางใหม่ของประเทศไทยและระบบนิติรัฐ" วิทยากรประกอบด้วย ศ.ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธงชัย ณ นคร คอลัมนิสต์ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปานี หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและบรรณาธิการเว็บไซต์ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดำเนินรายการโดย นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
โดยตอนหนึ่งของการเสวนาผศ.พิรงรอง กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 ระบุเรื่องการอุดหนุนสื่อมวลชนโดยรัฐว่าการซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อโดยรัฐ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องผ่านกฎหมายการควบคุมการโฆษณาปะชาสัมพันธ์ภาครัฐ เพื่อให้เห็นความโปร่งใสขององค์กรภาครัฐว่าไม่มีวาระแอบแฝง นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่ระบุถึงการเมุ่งน้นการให้ความคุ้มครองสื่อ ไม่ให้อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ เพราะไทยมีทั้งสื่อของรัฐและเจ้าของกิจการ
ผศ.พิรงรองกล่าวว่า ถ้ามองสื่อในฐานะฐานันดรที่ 4 ความหมายของฐานันดรที่4 คือมีหน้าที่คานดุล กับฐานันดรทั้ง 3 ที่ประกอบด้วยอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เมื่อมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ในทั้ง 3 ฐานันดร สื่อต้องมีหน้าที่รายงานให้ประชาชนทราบ แต่ตอนนี้ฐานันดรที่4 บางคนก็ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในฐานันดรที่ถูกสถาปนาขึ้นมาแล้ว และก็มีการออกแบบให้จากเดิมที่องค์กรวิชาชีพเคยมีการกำกับดูแลกันเองที่แยกขาดจากรัฐอย่างชัดเจน ให้กลายเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐหรือไม่
“การใช้อำนาจจะเป็นการใช้อำนาจแบบใด ดิฉันอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการเรื่องนี้และดิฉัน เป็นหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างองค์กรนี้ขึ้นมา เนื่องจากถ้าเป็นองค์กรวิชาชีพ เขาจะไม่ผูกพันกับกฎหมาย” ผศ.พิรงรองระบุ และยกตัวอย่าง ว่าเพียงแค่สภาการหนังสือพิมพ์ที่ดูแลสื่อหนังสือพิมพ์มืออาชีพไม่กี่รายยังดูแลลำบาก แล้วองค์กรนี้ ต้องดูทั้งหมด แล้วจะทำได้จริงหรือและใครจะทำแบบนั้น
ผศ.พิรงรอง ยังกล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อวงการสื่อหลังจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ อาทิ ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 หรือช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง มีกรณี ประทุษวาจาหรือเฮทสปีช ซึ่งช่วงแรกของการเกิดการใช้ประทุษวาจา มีการแพร่หลายของสื่อการเมืองที่ไม่ใช่สื่อวิชาชีพ แต่เกิดขึ้นมาเพื่อมีวาระทางการเมืองอย่างชัดเจน มีหน้าที่หลักๆ คือการดิสเครดิตและทำร้าย ทำลายฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น จึงเป็น เรื่องธรรมดาที่จะเจอการประทุษวาจา ในสื่อประเภทนี้ ในช่วงวิกฤติการนี้ สื่อทั้งหมด แม้แต่สื่ออาชีพก็ถูกตั้งคำถาม หรือก่อนหน้านี้ มีกรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่เกิดปรากฏการณ์ไอทีวีตอบสนองทุนมากขึ้น หรือการเข้ามาซื้อหุ้นของมติชน และบางกอกโพสต์ โดยบริษัทแกรมมี่ที่ถูกมองว่าเป็นนอมินีของกลุ่มการเมือง
ผศ.พิรงรองกล่าวว่า ความสนใจที่สังคมมีต่อกรณีสื่อถูกแทรกแซงว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือว่าในวิถีชีวิต ประจำวัน เราสนใจเรื่องเหล่านี้น้อยลงหรือไม่ หรือทุกวันนี้ การสื่อสารสื่อของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป มีเฟซบุ๊ค สนใจข่าวสารที่มีการส่งต่อในนั้น ต่างจากความสนใจที่มีต่อสื่อในรูปแบบเดิมแล้ว
“ยกตัวอย่างกรณีเนชั่น กับบริษัท SLC คนสนใจน้อยมาก หรือเราไม่ผูกโยงกับสื่อแล้ว ขณะที่สิ่งที่เกิดกับมติชนและโพสต์นั้น ตอนนั้นคนสนใจเยอะมาก”
ผศ.พิรงรอง กล่าวเปรียบเทียบประเด็นเรื่องเกี่ยวกับสื่อในรัฐธรรมนูญสามฉบับที่ร่วมสมัยในรอบ 18 ปีด้วยว่า คือรัฐธรรมนูญปี2540 ปี2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 มีส่วนที่ระบุสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน และบัญญัติว่าการปิดสื่อจะทำไม่ได้ แต่ในแง่ของการเซ็นเซอร์ หรือปิดบางส่วนนั้นทำได้ เช่น ในกรณีที่มี พรก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.มั่นคง หรือกรณีมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
“แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ใน ปี 2558 มีการเพิ่มเติมลักษณะของสื่อที่พึงรับการคุ้มครอง มีการแก้ไขในส่วนที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี2540 โดยมีการแก้ไขว่าสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมย่อมต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น สื่อที่ไม่ทำเพื่อจริยธรรม ไม่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีขอมูลที่ถูกต้อง สื่อแบบนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครอง”
ส่วนนายชวรงค์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ2558 มีการบัญญัติการกำกับดูแลสื่อที่กำหนดให้มีกฎหมายองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนโดยให้มีตัวแทนจากองค์กรภายนอกมาร่วมส่งเสริมมาตรฐาน จริยธรรมและวิชาชีพ และคุ้มครองสวัสดิการสื่อ คือให้มีองค์การวิชาชีพ
นายชวรงค์กล่าวต่อว่า เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพทั้งในการดูแลสวัสดิการและพิจารณาคำร้องเป็นการควบคุมดูแลกันเอง ไม่มีการจัดตั้ง ตรงนี้จะเปลี่ยนไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเมื่อองค์กรนี้กฎหมายให้มีอำนาจตามกฎหมาย และต้องมีผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย จะมีการใช้อำนาจทางปกครองเข้ามา ก็น่าเป็นห่วง เพราะประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย ไม่มีการให้อำนาจทางกฎหมายกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีเพียงการรองรับว่าเป็นองค์กรตามกฎหมาย เช่น กรณี สวีเดน กฎหมายรองรับการมีอยู่ของสภาการหนังสือพิมพ์ กฎหมายเพียงแต่รับรองว่ามีอยู่ แต่ไม่ได้บัญญัติว่ามีอำนาจ ส่วนอินโดนีเซียเมื่อมีการร่างกฎหมายใหม่ ก็มีการร่างกฎหมายของสื่อมวลชนว่ามีสภาการสื่อมวลชน ที่ครอบคลุมทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนที่สื่อไปละเมิด แต่สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญของไทยร่างขึ้นนี้จะก็ให้เกิดการแทรกแซงจากนักการเมืองหรือไม่
นายชวรงค์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่แปลกประหลาดในร่างรัฐธรรมนูญคือการกำหนดให้สื่อต้องมีใบอนุญาต ทั้งที่อาชีพสื่อต้องการความหลากหลายทางความคิด ต้องการคนที่มีความรู้รอบ
“สิ่งสำคัญคือทักษะความสามารถในการจับประเด็น คนที่จบแขนงอื่นๆอาจจะเก่งกว่าคนที่เรียนจบมาทางด้านนิเทศศาสตร์ก็ได้
ขณะที่ นายธงชัยกล่าวว่า เห็นด้วยว่าสื่อควรปฏิรูปอย่างยิ่ง สื่อมีหน้าที่ในการนำเสนอความจริงแก่ประชาชน สื่อไม่ควรชี้นำสังคม ทำหน้าที่ถ่ายทอดความจริงก็เพียงพอแล้ว แต่มักลืมตัว ทำเป็นอภิสิทธิ์ชนทั่วไป
“ดังนั้น หากจะมีองค์กรภายนอก ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้ดีพร้อม พร้อมจะยอมรับการปฏิรูป”นายธงชัยระบุ