ซีพีหนุนใช้ยางทำถนน กรวยจราจร ลู่วิ่ง เชื่อใช้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านตัน
นักวิชาการเผยตัวเลขไทยใช้ยางในประเทศ 12.8 % ไม่เข้าเป้า ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้บริหาร ซีพี หนุนใช้ยางทำถนน กรวยจราจร ลู่วิ่ง เชื่อใช้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านตัน แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายชัด ยันเอกชนทำฝ่ายเดียวไม่ได้ 'บุญหาญ อู่อุดมยิ่ง' หวั่น พ.ร.บ.การยางฯ ไม่เสริมขีดความสามารถเเข่งขัน อาจทำให้นักลงทุนหนี
เร็ว ๆนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดสัมมนาวาระประเทศไทย:Global Connectivity ‘AEC:อนาคตยางพาราไทย วิกฤตหรือโอกาส’ ณ โรงแรม แกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน
โดยในหัวข้อย่อย ‘AEC:อนาคตยางพาราไทย วิกฤตหรือโอกาส’ ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยข้อมูลยางพาราในไทย เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ 1 ใน 10 ของประเทศ แต่ในปี 2557 กลับพบว่า มูลค่าการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราหล่นมาอยู่อันดับ 3 โดยเฉพาะยางพาราเหลือเพียง 1.9 แสนล้านบาท แต่ผลิตภัณฑ์ยางพารายังทรงตัวอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท
“ก่อนหน้านี้ไทยส่งออกยางพาราแผ่นดิบเป็นหลัก แต่ 10 ปี ให้หลังส่งยางพาราแท่งเป็นหลักแทน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ราคายางพาราค่อนข้างอ่อนไหว และปัจจุบันยังไม่มีใครกล้าทำนายราคาจะอยู่ที่เท่าไหร่”
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ยังกล่าวถึงพื้นที่ปลูกยางพาราในอาเซียนว่า อันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย มีพื้นที่ 22 ล้านไร่ ตามมาด้วย ไทย 20.7 ล้านไร่ จีน 7.1 ล้านไร่ และมาเลเซีย 6 ล้านไร่ ซึ่งสาเหตุที่มาเลเซียตกอันดับ เนื่องจากเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเน้นปลูกปาล์มน้ำมันแทน ทั้งนี้ ในปี 2563 อินโดนีเซียเตรียมขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 25 ล้านไร่
ที่น่าสนใจ คือ อินเดีย ส่งเสริมให้ปลูกยางพาราด้วย เพราะวางเป้าหมายผลิตรถยนต์ประเภทต่าง ๆ 40 ล้านคัน/ปี และคาดการณ์ว่า อินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา เป็น 3 ประเทศ ผลิตรถยนต์มากที่สุด จึงต้องการยางพารามาใช้ในอุตสาหกรรมนี้สูงถึงร้อยละ 70 และถือเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญ
สำหรับยุทธศาสตร์พัฒนายางพาราไทย ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณใช้ยางพาราในประเทศ ร้อยละ 12.8 ซึ่งแตกต่างจากตัวเลขของกระทรวงเกษตรฯ ที่ระบุร้อยละ 14 นั่นแสดงถึงการแปรรูปในประเทศลดลง เรากำลังนำอนาคตของยางพาราไทยไปเสี่ยงไว้กับจีน สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งขณะนี้ยังไม่กระเตื้อง
“ไทยมียุทธศาสตร์ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราตั้งแต่ปี 2542-56 จากเดิม 12 ล้านไร่ เป็น 20 ล้านไร่ เฉลี่ยปีละ 5 แสนไร่ ถือเป็นความสำเร็จหรือไม่” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ตั้งคำถาม และว่า ที่่ผ่านมาเราส่งเสริมเพิ่มผลผลิตให้ได้ 300 กก./ไร่ ทำได้เพียง 257 กก./ไร่ และต้องใช้ยางพาราในประเทศร้อยละ 17 แต่ทำได้เพียงร้อยละ 12.8 เท่านั้น
ด้านนายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเปิดประชาคมอาเซียนมุ่งยกเลิกกำแพงภาษี สร้างศักยภาพโอกาสการแข่งขัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชากรอย่างยั่งยืนและมั่นคง จึงต้องส่งเสริมด้านพัฒนาการผลิตและการตลาด ซึ่งไทยยังเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลก และเชื่อว่าจะรักษาแชมป์ได้ แม้อินโดนีเซียจะไล่ตามมา แต่ไทยกลับมีจุดแข็งในเรื่องสายพันธุ์ ดังนั้น หากเพิ่มผลผลิตต่อไร่และคุณภาพมากขึ้นจะสร้างโอกาส โดยเฉพาะเกษตรกรต้องเข้าถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับปุ๋ยและการดูแล
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลต้องส่งเสริมราคาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่างเหมาะสมเป็นธรรม หน่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน พัฒนาการแปรรูปในประเทศให้มากขึ้น ไม่พึ่งปริมาณการส่งออกอย่างเดียว แต่หันมาใช้ในประเทศด้วย
“ถนน 1,000 กม. ใช้ยางพารา 3,000 ตัน กรวยจราจร 3 ล้านกรวย ใช้ยางพารา 3,000 ตัน ยังมีสนามเด็กเล่น ลู่กีฬา อีก หากหันไปใช้คอนกรีต ต้องระเบิดภูเขา ซึ่งไม่สามารถสร้างใหม่ได้” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฯ กล่าว และว่า หากส่งเสริมใช้ยางพาราแทนที่จะมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านตัน แต่รัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนและเร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
นายขุนศรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรจะดึงตลาดขายยางพาราล่วงหน้าจากสิงคโปร์มาอยู่ที่เมืองไทย ซื้อขายและส่งมอบจริง และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียนต่อไป ตลอดจนจำกัดโรงงานแปรรูปคั้นกลาง จากยางพาราสู่ยางแผ่น เฉพาะคนไทย เหมือนโรงสีข้าว ส่วนต่างชาติที่ต้องการลงทุนต้องประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือให้กรณีใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และดูแลเกษตรกร โดยเฉพาะเงินทุน เนื่องจากถูกปล่อยปละละเลยมานาน โดยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ มีบริษัทน่าเชื่อถือรับความเสี่ยง
ขณะที่นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยว่า ต้องส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานพร้อม เพื่อเชิญชวนให้ผู้ประกอบการลงทุน ยกตัวอย่าง ห้องทดสอบ และสร้างมาตรฐานที่ดี แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนด้วย ภาคเอกชนจะดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้
"ต้องศึกษาวิจัยและพัฒนา เพราะยางพาราไม่นิ่งอยู่กับที่ ต้องคิดไปเรื่อย ๆ หากไม่ทำเรื่องใหม่ ก็คิดเรื่องเดิมให้ลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพการผลิตได้"
สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย ต้องเขียนให้ส่งเสริมผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขัน แม้จะมีบางข้อที่กังวลอยู่ ทั้งนี้ หากกฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับใช้ และทำให้ผู้ประกอบการไม่สบายใจ อาจไม่อยากลงทุน ซึ่งจะทำให้ตัวเลขผลิตและใช้ในประเทศไม่โต .