ทางรอดป่าไม้ไทย นักวิชาการแนะอย่ากันคนออกจากป่า หรือมองเป็นศัตรู
นักวิชาการ - ปราชญ์ชาวบ้าน แนะทางรอดของป่าไม้ไทยต้องไม่กันคนออกจากการบริหาร เตือนรัฐบาลด้วยความห่วงใยการทวงคืนพื้นที่ยางพาราเป็นการสร้างศัตรู ขอความจริงใจหากรักษาธรรมชาติต้องไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์
23 เมษายน 2558 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับกรมป่าไม้จัดงานประชุมวิชาการป่าไม้ 2558 เป็นวันที่ 2 โดยภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อ “ทางรอดป่าไม้ไทย...ทางรอดคนไทย” ณ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย และแนวโน้มนับวันก็ยิ่งจะเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ในอนาคตหากกางแผนที่ดูก็จะพบว่า มีสีเขียวเหลือเพียงไม่กี่จุด ซึ่งการแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับกลไกทางเศรษฐกิจ
สำหรับประเด็นปัญหาที่ทำให้แก้ไม่สำเร็จ ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องแรกคือเรื่องการดูแลปกป้องผืนป่ายิ่งปกป้องยิ่งสูญเสีย กรณีไม้พะยูงเห็นได้ชัดเจน และเราก็ไม่สามารถรักษาป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูงได้ เท่าที่คำนวณงบประมาณในการปราบปรามจับกุมเรื่องไม้พะยูง คำนวณคร่าวๆ แล้ว งบปราบปรามมีมูลค่าแพงกว่ามูลค่าไม้พะยูงที่เสียไปด้วยซ้ำ นี่คือคำตอบว่าทำไมแก้ปัญหาไม่ได้ และคำตอบนี้ก็เป็นความจริง ยิ่งป้องกันชนิดไหน ชนิดนั้นยิ่งมีราคาสูง เรียกได้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นที่น่าวิตก
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงการจัดการบริหารป่าก็เช่นเดียวกัน จนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการจัดการ และการจัดสรรเรื่องการใช้ประโยชน์ก็ไม่มีความเป็นธรรมและทั่วถึง เช่น การอนุญาตให้เช่าพื้นที่ป่าสงวน สัมปทาน การหาของป่า รัฐอนุญาตแต่รายใหญ่ ส่วนรายเล็กรายน้อยไม่อนุญาต และก่อให้เกิดปัญหาการจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม ส่วนเรื่องการฟื้นฟูป่า 60 -70 ปีที่ผ่านมา เราฟื้นฟู เราปลูกป่า แต่ไม่มีคำตอบหรือตัวเลขออกมาว่า ผืนไหนคือป่าที่ฟื้นฟูมาได้ นี่คือความท้าทายในการที่จะแก้ปัญหาว่า ทำไมเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นและแท้จริงแล้วมีรากเหง้าสำคัญจากสิ่งใด
“หากวันนี้จะแก้ปัญหาเรื่องป่าไม้ และยังคงยึดแนวปฏิบัติโดยรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง สั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่าง การแก้ปัญหาก็จะเป็นไปไม่ได้และไม่เป็นจริง เพราะการรวมศูนย์อำนาจทำให้เกิดการรอนสิทธิชุมชนที่มีเขาและใช้อยู่ มิหนำซ้ำยังไม่ได้ปกป้องและไม่มีการดึงชุมชนเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ป่าจำนวนหนึ่งถูกทำลาย” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวและว่าการเปิดให้แสวงหาผลประโยชน์ก็คือระบบสัมปทานในการทำลายป่า เป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ แม้จะมีการปลูกป่าทดแทนแต่ก็ไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ไม่อยากให้โทษหน่วยป้องกันรักษาป่า เพราะเขาคือเหยื่อของระบบ ความล้มเหลวในการจัดการป่าวันนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวทางเทคนิค แต่เป็นความล้มเหลวเชิงนโยบาย ล้มเหลวตั้งแต่กรอบแนวคิด และกรอบแนวคิดแรกที่ผิดพลาดเป็นอย่างมาก คือ การกันคนออกจากการบริหารป่า และมองคนเป็นศัตรู รวมถึงการไม่ใช้ข้อมูลทางวิชาการมาช่วยในการวางแผนบริหารจัดการ ที่ผ่านมาการบริหารจัดการป่าจึงอยู่ในกระแสของการเมืองตลอด
รองประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กสม. กล่าวถึงการทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลขณะนี้ไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะการปลูกยางของเกษตรกรเป็นการปลูกโดยการสนับสนุนของรัฐเมื่อมีนโยบายนั้น วันดีคืนดีรัฐก็จะไปเอาคืนจะกลายเป็นการสร้างศัตรูกับประชาชนอย่างน้อยถึง 1 แสนครอบครัว และยังถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนด้วย นี่เป็นคำเตือนฝ่ายรัฐบาลด้วยความห่วงใย
ด้านครูบาสุทธินันท์ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า คนไทยไม่ตระหนักถึงความสำคัญของป่าเกิดมาเพื่อทำลายทุกอย่าง เป็นคนที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับต้นไม่ได้ เห็นต้นไม้แล้วรู้สึกคันอยากตัด อยากโค่น มนุษย์ปัจจุบันนี้ก็เป็นมนุษย์พันธุ์มาม่า พันธุ์เซเว่น ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรได้ เพราะไม่มีความรู้เลย ถามว่าวันนี้คนไทยใช้ความรู้อะไรทำเกษตร อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา หากไม่มีความรู้จะทำได้ยั่งยืนตลอดไปหรือไม่ ไม่มีที่ดินไม่มีป่าเพราะให้ต่างชาติกว้านซื้อไปหมด
"วิกฤติป่าในวันนี้เชื่อว่าจะเป็นสิ่งดีที่จะกระตุ้นให้คนไทยสำนึกและตระหนักเรื่องผืนป่าขึ้นมาบ้าง และอยากชักชวนคนไทยที่มีที่ดินเล็กน้อยมาใส่ใจปลูกต้นไม้ แล้วช่วยกันสร้างปรากฏการณ์ที่ชัดเจนให้มองเห็นเป็นรูปธรรม"
ครูบาสุทธินันท์ กล่าวอีกว่า คนพื้นถิ่นเดิมก็เป็นปัญหา โดยเฉพาะรุ่นพ่อรุ่นแม่ ลูกจะขอกลับไปขอพื้นที่ปลูกป่า เป็นเกษตรกรทำกิจกรรมแบบใหม่ พ่อแม่หัวชนฝาไม่ให้ทำ พร้อมถามว่าปลูกป่าจะกินอะไร จะเอารายได้มาจากไหน ดังนั้นวันนี้ต้องคิดใหม่ ไม่ใช่ปลูกอ้อยก็อ้อยอย่างเดียว ปลูกข้าวก็ข้าวอย่างเดียว ต้องเอาต้นไม้มาเป็นยุทธศาสตร์ด้วย แบ่งพื้นที่ 20 % ของการเพาะปลูกข้าวหรืออ้อยมาปลูกต้นไม้ เพราะทุนชีวิต ทุนสังคม ทุนประเทศขึ้นอยู่กับป่าไม้ วันนี้ไปดูได้เลย ชุมชนไหน พื้นที่ใดที่ไม่มีป่า พื้นที่เหล่านั้นอยู่กันอย่างทุรนทุราย กระเสือกกระสน ทางรอดวันนี้ที่มองเห็นคือองค์กรชุมชนเขากำลังจับมือกันปะติดปะต่อและเริ่มมองเห็นเป็นเครือข่ายและนี่คือทางรอด ซึ่งจะต้องหวังให้คนกลุ่มนี้มีความขยันและชัดเจนว่าจะเอาตัวเองวางไว้ที่จุดไหน
“คนไทยวันนี้สุขภาพเสียหาย และป่าให้คำตอบทุกอย่าง ให้คำตอบในเรื่องสุขภาพ อาหาร ที่อยู่อาศัย แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครช่วยกันอธิบายว่าการปลูกป่าแล้วจะได้อะไร และยืนยันคำเดิมว่าไร่นาป่าผสมคือทางรอด จะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ขออย่าทิ้งต้นไม้”
ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวอีกว่า บทบาทหน้าที่ในการดูแลป่าไม้อยากให้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่จะต้องดูแลอนุรักษ์และเสริมสร้าง ส่วนกรมป่าไม้ก็เป็นฝ่ายวิชาการในการจัดสรรเรื่องการปลูกป่าเชิงรุก และคนไหนที่มีที่ดินว่างอย่าอยู่เฉยๆให้เปลืองอ๊อกซิเจนให้ช่วยกันปลูกป่า โดยเฉพาะนโยบายที่มีความชัดเจนในการอนุรักษ์ป่าที่สมบูรณ์
“พื้นที่ป่าในแม่วงก์มีความสมบูรณ์ถ้าเราปล่อยให้มีเขื่อนที่นั่น นี่จะเป็นตัวชี้วัดถึงความอ่อนแอ อ่อนไหว ไม่มีพลัง ดังนั้น ผมขอยกเว้นสักเขื่อนได้ไหม รัฐบาล”
ขณะที่นายประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ทางกรมป่าไม้ได้พยายามหาแนวคิดในการนำเสนอกับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็ฯเรื่องแนวคิดป่าสมบูรณ์จะเก็บพื้นที่เหล่านั้นและจะพยายามไม่ให้มีชุมชนอยู่ ขณะที่ป่าสมบูรณ์ที่ติดบริเวณชุมชนนั้นก็จะจัดการให้เป็นป่าชุมชนและให้ชุมชนช่วยกันดูแล ส่วนความต้องการคนใช้ไม้ทางกรมก็จะจัดให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจชุมชนโดยแต่ละชุมชนจะให้พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้