กำจัดคอร์รัปชั่นให้อยู่หมัด ดร.สังศิต ชี้ต้องไม่ลืมปฏิรูปองค์กรตำรวจ
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต แสดงกังวลร่างรัฐธรรมนูญ มีองค์กรรตรวจสอบภาคพลเมืองมาก หวั่นอยู่ไปมีอำนาจแล้วจะเสีย ชี้มาตรา 247 ที่ให้แสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน รัฐมนตรี องค์กรอิสระ ต้องเพิ่ม สมาชิก อปท.เข้าไปด้วย
วันที่ 23 เมษายน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “การต่อต้านการคอร์รัปชั่นในประชาคมอาเซียน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงการคอร์รัปชั่นว่า เป็นวาระของโลก วันนี้การวัดว่าประเทศใดเจริญ โปร่งใส มีความสามารถในการแข่งขัน ตัวชี้วัดตัวหนึ่งคือขนาดการคอร์รัปชั่นของประเทศนั้นๆ
“โลกทั้งโลกเข้าสู่แนวโน้มเดียวกันพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะคอร์รัปชั่นข้ามชาติที่หลายประเทศต้องร่วมมือกัน”
รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า การต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นภารกิจร่วมกันของคนไทย และสมาชิกชาติอาเซียน พร้อมยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่มีรัฐบาลไม่มีข่าวอื้อฉาวการรับเงินใต้โต๊ะ หรือเรื่องการคอร์รัปชั่นเลย ซึ่งปัจจัยสำคัญคือผู้นำประเทศมีความสุจริต ซื่อสัตย์ต่อประเทศ และวัฒนธรรมของสังคมสิงคโปร์
สำหรับรูปแบบคอร์รัปชั่นนั้น คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต กล่าวว่า มี 3 รูปแบบ 1.คอร์รัปชั่นเชิงโครงสร้าง เจ้าหน้าที่ นักการเมือง ร่วมมือกันแต่งตั้งโยกย้าย จนสามารถควบคุมโครงสร้างองค์กรภาครัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ 2.คอร์รัปชั่นตามระบบ เจ้าหน้าที่ทำเอง ชี้ช่องให้ หรือเจ้าหน้าที่จับมือกับนักการเมือง นักธุรกิจ คอร์รัปชั่นแบบถูกกฎหมาย ตามระเบียบราชการ และ 3.คอร์รัปชั่นเชิงระบบ นักการเมืองมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่รัฐ จนสามารถออกเป็นมติ ครม. นโยบาย หรือกฎหมาย
รศ.ดร.สังศิต กล่าวถึงกรณีประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้ระบบการเมืองไทยโปร่งใส โดยเฉพาะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการพูดถึงการต่อต้านการทุจริตเอาไว้มาก และมีความแตกต่างกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ คือมีการเข้าไปควบคุมกลุ่มการเมือง กระบวนการเลือกตั้ง และการเข้าสู่อำนาจมีการตรวจสอบเข้มเป็นพิเศษใครมาเป็นรัฐบาลต่อไปจะมีการการตรวจสอบเยอะมาก รวมถึงมีการประเมินการทำงาน
“ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการตรวจสอบของภาคพลเมือง ผมกังวลใจว่า องค์กรภาคประชาคมที่จะเกิดขึ้นมา เวลาตั้งก็ดี แต่อยู่ไปมีอำนาจมักเสีย ดังนั้นต้องระมัดระวัง ผมคิดว่าในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 247 ที่ให้แสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน รัฐมนตรี และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คิดว่ายังไม่พอ มาตรานี้ควรรวมถึงสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย การตรวจสอบต้องครอบคลุมไปถึง และมาตรา 248 ต้องเพิ่มเติม ครอบคลุมถึงเครือญาติ พวกพ้องคนใกล้ชิด”รศ.ดร.สังศิต กล่าว และว่า เสียดายในร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีระบุถึง ศาลคดีทุจริต
ทั้งนี้ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต กล่าวด้วยว่า หากการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้ผล องค์กรหนึ่งต้องปฏิรูป คือ ตำรวจ การปฏิรูปตำรวจ โดยแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมที่ควรแยกออกมา และกระบวนการทำงานของตำรวจ ต้องเป็นตำรวจจังหวัด จึงจะตรงประเด็นที่สุด ให้สังคมกำกับดูแล เชื่อว่า ตำรวจคุมหวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า จะหมดไป การทุจริตของเมืองไทยจะมีอนาคต