เกษตรฯ ลุ้น ครม.อนุมัติแพคเกจแก้ยางทั้งระบบ
'อำนวย ปะติเส' อ้างคำนักเศรษฐศาสตร์โลกพยากรณ์ราคายางเเตะ 100 บ./กก. เป็นไปได้ยาก ดันเเพคเกจจัดการครบสูตร คาดสรุป พ.ค.นี้ เผยลุ้น พ.ร.บ.การยางฯ บังคับใช้ สร้างเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว
วันที่ 23 เมษายน 2558 ที่โรงแรม แกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดสัมมนาวาระประเทศไทย:Global Connectivity เรื่อง AEC:อนาคตยางพาราไทย วิกฤตหรือโอกาส โดยมีนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เป็นประธาน
นายอำนวย กล่าวตอนหนึ่งว่า นักเศรษฐศาสตร์ด้านยางพาราของโลกพยากรณ์ราคารับซื้อยางพารากิโลกรัมละ 100 บาท เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นหากเกษตรกรไม่ปรับตัวจะเกิดปัญหาขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้วางเป้าหมายบริหารจัดการทั้งระบบไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปในเดือนพฤษภาคมนี้
“ตอนนี้หวยยังไม่ออก จะออกต่อเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแพคเกจยางพาราที่เสนอไว้ทั้งหมด จึงจะระบุได้ว่า ควรรับซื้อในราคากิโลกรัมละเท่าไหร่ และใช้เครื่องมือบริหารจัดการอย่างไร” รมช.กษ. กล่าว และว่า ให้มั่นใจเดือนพฤษภาคมนี้ รัฐบาลจะมีแผนการผลิตและจำหน่ายยางพารา ปี 2558/59 เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการบริหารจัดการจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า
นายอำนวย ยังกล่าวถึงทิศทางการพัฒนายางพาราไทยว่า ต้องพัฒนาตลาดกลางยางพาราไทยให้ได้ เพื่อสร้างมาตรฐานและระบบการส่งมอบ และสนับสนุนให้ตลาดเหล่านี้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงส่งเสริมการใช้ในประเทศมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 14 ขยับเป็นร้อยละ 20-30 แต่หากยังขาดนโยบายชัดเจนก็ไม่สามารถกำจัดตัวเลขปีศาจใช้ในประเทศเดิมได้
เมื่อถามถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย รมช.กษ. ระบุว่า มีสาระสำคัญในการควบรวมองค์กรที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการยางของไทยอยู่ในรูปรัฐวิสาหกิจและราชการเป็นองค์กรเดียวกันกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ มีจุดเด่นในการจัดทำนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้การจัดการของ พ.ร.บ.ควบคุมยาง ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้
นายอำนวย กล่าวด้วยว่า สำหรับการบริหารเงินสงเคราะห์ (Cess) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กฎหมายฉบับเดิมให้ใช้ในภาคผลิต โค่นต้นยางพาราและปลูกทดแทน ซึ่งดำเนินนโยบายดังกล่าวมาร่วม 60 ปี หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะมีต้นยางพาราจำนวนมาก ส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาด และขาดการพัฒนา ตลอดจนไม่มีมาตรการส่งเสริมการส่งออก เรื่องทั้งหมดทำให้การใช้เงิน Cess โย้ไปที่การผลิตต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำ ปลายน้ำ และการส่งเสริมทางวิชาการกลับไม่มี
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ได้เปิดโอกาสให้ได้ดำเนินการทุกส่วน แต่น้ำหนักยังคงอยู่ต้นน้ำเหมือนเดิม และส่งเสริมให้เกษตรกรยกระดับจากการผลิตไปสู่การแปรรูป เพื่อพัฒนาตลาดได้ด้วย พร้อมยืนยันจะไม่ปรับลดอัตราเงิน Cess เพื่อให้เเข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ในช่วงนี้จนกว่ากฎหมายจะบังคับใช้ เพราะปัจจุบันอัตราอยู่ที่ 1.4 บาท/กิโลกรัม ซึ่งต่ำที่สุด และประเทศเพื่อนบ้านใช้อยู่เเล้ว .