'กรีนพีซ' จี้กรมประมงยกเลิกเครื่องมือจับสัตว์น้ำผิด กม.แก้อียูให้ใบเหลือง
กรีนพีซ แนะ รัฐบาลใช้วิกฤติเป็นโอกาสแก้ปัญหาเรื้อรังประมงไทย ย้ำ อียูให้ใบเหลืองไม่หมายความว่าไม่ใยดีประเทศไทย แต่เป็นการร้องขอให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความยั่งยืน
กรณีคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป(อียู) ออกประกาศให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการเพื่อแจ้งเตือนไทยต่อกรณีที่ยังไม่มีมาตรการเพียงพอตามกฎ ระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ (ไอยูยู) พร้อมกำหนดระยะเวลา 6 เดือนให้แก้ไขปัญหานั้น
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องใบเหลืองที่อียูให้กับประเทศไทยนั้นไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยมีกรณีที่คล้ายกัน อาหารทะเลหรือสินค้าประมงที่ส่งออกจากประเทศไทยมีคล้ายกัน โดยเฉพาะสหภาพยุโรปนอกจากมีประเด็นเรื่องการค้าประมงผิดกฏหมายแล้วยังมีประเด็นเรื่องการประมงที่ทำลายล้าง เช่น มีการประมงที่จับสัตว์น้ำที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้นำมาใช่ในเชิงพาณิชย์ สัตว์ที่หายาก จำพวกโลมา เต่า จึงไม่ได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับคำเตือนจากอียู
นายธารา กล่าวอีกว่า การที่อียูออกมาเตือนถือเป็นกรณีที่มีการทบทวนมาอย่างดีแล้วเพราะในอดีตก็ได้มีการพูดคุยกันมานานกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้ทำอะไรที่เพียงพอ ยังสะเปะสะปะ ส่วนระยะเวลา 6 เดือนนั้น อียูต้องการเห็นความคืบหน้าในเชิงที่ทำให้เห็นว่าจะรับประกันได้ว่าสินค้าสัตว์น้ำหรือสินค้าประมงที่ส่งออกไปที่อียูปลอดจากการประมงที่ผิดกฎหมายหรือที่ทำลายล้าง ซึ่งหากเวลา 6 เดือนนี้ไทยไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ก็จะโดนใบแดงนั้นคือการห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยและจะส่งผลต่อการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารทะเล
ส่วนในระยะเวลา 6เดือนนี้จะต้องเริ่มต้นทำอะไรนั้น ผู้อำนวยการกรีนพีซ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเข้าใจว่ากรมประมงทำงานหนักพอสมควร แต่การแก้ปัญหาที่ผ่านมาคือกรมประมงยังไม่ได้คิดให้พ้นจากกรอบเดิมที่มีอยู่ คือ ทำให้เรือประมงที่ทำการประมงในประเทศไทยถูกต้องตามกฎหมายโดยการไปขึ้นทะเบียนเรือ มีการติด GPS เพื่อให้มีการติดตามตำแหน่งได้สะดวก และมีการบันทึกลงข้อมูลไว้ว่าเรือลำนี้ละเมิดข้อตกลงที่มีอยู่หรือไม่
"ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือกรมประมงอาจจะใช้กรณีนี้เอามาเป็นข้ออ้างในการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนที่เดิมเคยยกเลิกไปแล้ว อาจนำกลับมารื้อฟื้นใหม่โดยเรืออวนลากเถื่อนที่กวาดสัตว์น้ำในประเทศไทย 2 พันกว่าลำ ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายที่ทำงานเรื่องเกี่ยวกับประมง มองว่ากรมประมงไม่ควรทำแบบนี้ สิ่งที่ควรทำคือควรมีมาตรการให้ยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ควรยกเลิกการใช้เครื่องมือพวกนี้ไปเลยจะเป็นทางออกที่ดี"
นายธารา กล่าวต่อว่า กรมประมงไม่ควรโฟกัสเรื่องทำให้เรือประมงถูกกฎหมาย หากเกิดมีการสอดแทรกเอาเรืออวนเถื่อนเข้ามา จะกลับไปสู่วงจรเดิมคือทะเลถูกทำลาย ทะเลที่เสื่อมโทรมจะเสื่อมโทรมหนักขึ้น ผลประโยชน์ที่ได้คือลากเอาพวกสัตว์น้ำเล็กๆไปทำปลาป่น เพราะฉะนั้นกรมประมงไม่ควรมองแค่เรื่องการทำเรือ ควรสั่งห้ามเครื่องมือการประมงที่ทำลายล้างทุกชนิดในขนาดเดียวกันจะเป็นจุดแข็งที่สามารถไปคุยกับอียูได้ว่านี่เป็นมาตรการสำคัญที่ประเทศไทยสามารถทำได้
"ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมอาหารทะเล การที่เป็นอันดับต้นของโลก ไม่ได้หมายความว่าต้องไปพึ่งพาวงจรที่ผิดกฎหมายทำลายธรรมชาติ ห่วงโซ่ซับพลายเชนเอาปลาอินโดนีเซีย เอาปลาจากแปซิฟิก บางครั้งก็ไม่มีการสืบว่าปลาเหล่านี้มาจากไหน ต้นตอของปลาว่าปลาตัวนี้จับมาได้อย่างไร"
ผู้อำนวยการกรีนพีซ กล่าวว่า ในบางกรณีสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากทะเลลึกจะมีการขนถ่ายกลางทะเล ซึ่งในทางกฎหมายระหว่างประเทศยังทำไม่ได้ เพราะเรือลำหนึ่งไปกวาดปลาจากทะเลแล้วแทนที่จะเอาเข้าฝั่งว่าจับปลาได้กี่ตัวแต่กลับขนถ่ายทางกลางทะเล และลำที่ถูกขนถ่ายจึงสามารถจับปลาต่อได้ ซึ่งในทางกฎหมายสากลถือว่าผิดกฎหมาย ประเทศไทยจำเป็นต้องขยายบทบาทของตัวเอง และจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคทำงานร่วมกับอียู หรือประเทศอื่นๆที่ทำประมงร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการขนถ่ายสินค้าประมงกลางทะเล
"การให้ใบเหลืองของอียูไม่ได้แปลว่าเขาไม่สนใจใยดีอะไรกับประเทศไทย แต่นี่คือการเรียกร้องให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อที่จะผลักดันการประมงที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส มากกว่าบ่นรำพึงว่าอียูไม่ยุติธรรม เป็นการกีดกันทางการค้า ถ้ามัวแต่บ่นแล้วไม่ลงมือทำ อีก 6 เดือน ได้ใบแดง เศรษฐกิจก็จบเลย อุตสาหกรรมประมงของไทยไม่รู้จะไปรอดหรือไม่ ต้องมาข้ามปัญหาแล้วทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน แล้วรับฟังเสียงของประชาชน" นายธารากล่าว และว่า นี่เป็นวิกฤติ ที่ประเทศไทยควรตื่นตัวมากกว่าการร้องขอความเห็นใจ รวมถึงช่วงของการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะได้ใช้โอกาสนี้มาดูกฎหมายประมงว่ามีอะไรบ้างที่ควรต้องแก้ไข