กรมป่าไม้เล็งเพิ่ม ‘ป่าชุมชน’ ให้ได้ 1.2 หมื่นแห่ง ในอีก 10 ปี
ประชุมการป่าไม้ ครั้งที่ 1 ‘สุนันต์ อรุณนพรัตน์’ เผย รมว.ทส.ฝากกรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ จะทำอะไรก็รีบทำ ก่อน คสช.หมดอายุ ระบุใช้มาตรา 44 ได้ หากเกิดประโยชน์กับ ปชช. ด้านเอ็นจีโอแนะส่งเสริม ‘ป่าชุมชน’ รักษาพื้นที่ป่า สร้างแหล่งอาหารท้องถิ่น
วันที่ 22 เมษายน 2558 กรมป่าไม้ ร่วมกับคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดประชุมการป่าไม้ ครั้งที่ 1 ‘ป่าไม้ไทย ใครกำหนด’ ณ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีนายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน
นายสุนันต์ กล่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) มีดำริฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำอะไรก็รีบทำ ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดอายุ ไม่ว่าปัญหาใดจะเกิดขึ้น หากเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชน สามารถใช้มาตรา 44 เขียนกฎหมายขึ้นมาได้ แต่วันนี้ไม่แน่ใจว่า กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ ยังเสนอแนะให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรฯ ศึกษาวิจัยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภัยคุกคาม เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ ยิ่งต่อยอดจากงานวิจัยเดิมยิ่งดี เพื่อถ่ายทอดแก่ประชาชนนำไปใช้ได้
ด้านดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า แต่ละคนมีข้อมูลไม่ตรงกันเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ของไทยที่เหลืออยู่ บางคนยังใช้ตัวเลขเก่าสมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งเคยมีโอกาสสอบสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ 300 คน ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ผลปรากฏว่า ร้อยละ 90 ที่จะไปทำงานด้านนี้ไม่สามารถตอบได้ว่า พื้นที่ป่าเหลือเท่าไหร่ ซึ่งข้อเท็จจริงเหลืออยู่ 102 ล้านไร่ ของประเทศ หรือร้อยละ 32
สำหรับการดำเนินงานในอนาคต อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า มีแผนงานเตรียมปรับปรุงกำลังพลไม่ให้คล้อยตามผู้มีอิทธิพล โดยสนับสนุนให้ทำงานอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจัดทำแผนจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการหารือในสัปดาห์หน้า พร้อมเร่งรัดวางแนวเขตพื้นที่ป่าต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า
ดร.ธีรภัทร ยังกล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมุมมองให้รักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้ให้ได้ ส่วนเขตกันชนให้พัฒนาเป็นป่าชุมชน สร้างประโยชน์ในการยังชีพ และส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ถือเป็นนโยบายการจัดการป่าที่ชัดเจนในรอบหลายสิบปี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าชุมชนราว 9,300 แห่ง และวางเป้าหมายเพิ่มเป็น 12,000 แห่ง ในอีก 10 ปี ข้างหน้า
ขณะที่นายรณกร ตีรกานนท์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพและการบริการทางด้านวิชาการ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซีฟิค กล่าวถึงภาพรวมการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไว้ของอาเซียนในแต่ละประเทศว่า อินโดนีเซีย ร้อยละ 70 ภายในปี 2566 (รวมสวนยางพารา ไม้ผลบางชนิด) เมียนมาร์ ร้อยละ 60 ภายในปี 2574 ส่วนกัมพูชาและลาว ร้อยละ 60 แต่ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจน
สำหรับไทยวางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 แต่กลับไม่มีกรอบเวลาชัดเจนเช่นกัน ทำให้การดำเนินงานเลื่อนลอยไปเรื่อย ๆ อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าระดับจังหวัด โดยเฉพาะนโยบายด้านพัฒนา อาจมีอิทธิพลทำให้ไม่เกิดการตอบสนองอย่างภาพที่ควรจะเป็น
“ในภูมิภาคอาเซียนมักไม่มีการพูดถึง ‘คุณภาพ’ การจัดการป่า ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่มักเน้นพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการกำหนดทิศทางป่าในอดีตมักมาจากนักวิชาการป่าไม้ แต่ควรมาจากการมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ไม่เฉพาะกระทรวงเดียว ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ต้องการหรือมีความหวังในการใช้ประโยชน์จากป่า” ผู้แทนศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนฯ กล่าว
ด้านนายตะวันฉาย หงส์วิลัย ผู้ประสานงานแผนการจัดป่าชุมชน มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุถึงการกำหนดกรอบนโยบายภาครัฐต่อการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ ร้อยละ 40 ของประเทศว่า ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ยกตัวอย่าง พื้นที่ทำกินประชิดป่า ซึ่งประชาชนมักอ้างความยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน จนกลายเป็นวาทกรรมทำให้ผู้มีหน้าที่อนุรักษ์ป่าอ่อนไหว สุดท้ายป่าเหลือพื้นที่น้อยลง
“อะไรคือสิ่งที่ผิด อะไรคือสิ่งที่ถูก หากยึดกฎหมายเป็นหลัก การกระทำเช่นนี้ถือว่าผิด ฉะนั้นควรดำเนินการอย่างไร โดยไม่ปล่อยให้ทำกินจนกลายเป็นพื้นที่” ผู้ประสานงานฯ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าว และว่า นโยบายพัฒนาประเทศในอดีต ล้วนส่งผลให้พื้นที่ป่าลดน้อยลง ซึ่งหากใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2545 มาเปรียบเทียบตามเจตนารมณ์ของอธิบดีกรมป่าไม้ในอดีต มองจะเป็นทางออกที่ยุ่งยากมาก
นายตะวันฉาย กล่าวว่า หากต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าจริง ต้องรักษาป่าที่มีอยู่ในวันนี้ให้ได้ก่อน โดยจัดทำขอบเขตชัดเจน ไม่เฉพาะการแปลงภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือสำรวจภาคพื้นดินด้วยว่า ความจริงแล้วไทยมีพื้นที่ป่าเท่าไหร่ ทั้งนี้ ‘ป่าชุมชน’ เป็นแนวทางที่รักษาป่าได้มากที่สุด และยังเป็นแหล่งอาหารให้แก่คนในชุมชน ภายใต้การจัดการร่วมกับภาครัฐ .