ส.ศิวรักษ์ ชี้พื้นฐานนักสื่อสารต้องตีประเด็นให้แตก-คิดนอกกรอบ
ส.ศิวรักษ์ ชี้จุดบอดสื่อมวลชน ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ผลิตละครน้ำเน่าเอาลูกเจ๊กเป็นลูกเจ้า จี้ต้องฝึกตีประเด็นให้แตกเพื่ออนาคตที่สดใส
21 เมษายน 2558 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จัดปาฐวาที 50 ปี นิเทศศาสตร์ จุฬา ชุด "นิเทศศาสตร์แห่งอนาคต" ครั้งที่ 4 เรื่อง "สื่อมวลชนไทย เขียนอดีตเสียใหม่เพื่อก้าวไกลสู่อนาคต" โดย ศาสตราจารย์พิเศษ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชน และนักวิชาการอิสระ ณ หอประวัติและอนุสรณ์นิเทศศาสตร์ ชั้น 4 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
ศาสตราจารย์พิเศษ สุลักษณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้การศึกษามุ่งสอนให้คนฉลาดแต่ไม่ใช่สอนให้คนเป็นคนดี มหาวิทยาลัยในไทยมุ่งผลิตบัณฑิตแบบกึ่งดิบกึ่งดี และจุดบอดของสื่อมวลชนไทยถามว่า วันนี้มีสื่อสิ่งพิมพ์ใดบ้างที่กล้าบอกว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ แม้แต่สื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสก็ยังไม่ใช่สื่อแบบเสรีภาพอย่างแท้จริง
"สื่อมวลชนในขณะนี้ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ละครน้ำเน่าเอาลูกเจ๊กเป็นลูกเจ้า นี่คือภาพสื่อที่เป็นจริงในขณะนี้ ฉะนั้นแล้วจะมองหาอนาคตสื่อที่สดใสได้อย่างไร"ส. ศิวรักษ์ กล่าว และว่า ดังนั้นควาามสำคัญของนิเทศศาสตร์ในฐานะสื่อมวลชนซึ่งมีความสำคัญในการสื่อสารจะต้องตีประเด็นให้แตก เพราะหากสื่อไม่สามารถตีประเด็นให้แตกได้ ก็จะทำให้มองอนาคตไม่เห็น 3 สิ่งที่สื่อต้องตีประเด็นในวันนี้คือ 1.เรื่องโลกร้อน 2.ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และ 3.ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกที่ หากใน 3 เรื่องนี้ สื่อตีประเด็นไม่ได้และไม่ชัด ก็จะไม่สามารถตีประเด็นเรื่องอื่นได้เลย
ส.ศิวรักษ์ กล่าวด้วยว่า คุณสมบัติพื้้นฐานในศาสตร์ของนิเทศศาสตร์นั้น อันดับแรกครูกับศิษย์ต้องเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน หมายความว่า ครูต้องเรียนรู้จากศิษย์และศิษย์ก็เรียนรู้จากครู และ2 คือต้องรู้จักออกนอกกำแพงคิดนอกกรอบ และในอนาคตนักสื่อสารรุ่นใหม่ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากขึ้น ฝึกใช้ความกล้าหาญ ฝึกกล้าที่จะอภิปราย และฝึกที่จะไม่เกลียดความเห็นต่าง นี่คือพื้นฐานที่นักสื่อสารต้องมีในอีก 50 ปี ข้างหน้า