สธ.เล็งทำหนังสือถึง ‘บัวเเก้ว’ สอบมาตรฐาน รพ.ดังจีน ฝังเเร่รักษามะเร็ง
สธ.เผยตัวเลขคนไทยเดินทางไปต่างประเทศฝังเเร่ถาวรรักษามะเร็งตั้งเเต่ ม.ค.57 จำนวน 35 ราย เเต่ตัวเลขจริงไม่เเน่นอน เเนะปฏิบัติตัวตามเเพทย์สั่งเคร่งครัด ป้องกันแผ่รังสีคนใกล้ชิด เล็งทำหนังสือถึง ก.ต่างประเทศ ตรวจสอบมาตรฐาน รพ.-วิธีการรักษา
วันที่ 21 เมษายน 2558 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้แทนจากราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว 'มาตรการการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาด้วยการฝังแร่แบบถาวรจากต่างประเทศ' ณ กระทรวงสาธารณสุข
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการโฆษณาการรักษามะเร็งด้วยการฝังแร่แบบถาวร ที่โรงพยาบาลในต่างประเทศ ทางสื่อต่าง ๆ ทั้งทีวี อินเตอร์เน็ต จำนวนมาก ทำให้มีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งสนใจเดินทางไปรักษา โดยข้อมูลจากสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่มกราคม 2557 ถึงปัจจุบัน มีประมาณ 35 ราย แต่ตัวเลขจริงไม่ทราบแน่นอน
ทั้งนี้ ตามหลักของสิทธิผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการรักษาและสถานพยาบาล แต่ต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยบางรายไม่ทราบว่าการฝังแร่แบบถาวรในการรักษามะเร็งนั้น กัมมันตภาพรังสีสามารถแผ่รังสีออกมาได้ ซึ่งผู้ใกล้ชิดคนในครอบครัวเสี่ยงสัมผัสรังสีโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์และเด็กจะเป็นอันตรายมากกว่ากลุ่มอื่น ที่สำคัญเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต แร่ก็จะยังอยู่ในศพและในเถ้ากระดูก
“ขอความร่วมมือประชาชน หากฝังแร่แบบถาวรให้ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด ในช่วง 1 เดือนแรกควรแยกพัก ไม่พักรวมกับบุคคลอื่น ไม่อยู่ใกล้กับสตรีมีครรภ์และเด็กเป็นเวลานาน ๆ ป้องกันอันตรายต่อคนใกล้ชิด โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดระบบดูแลคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน" รมช.สธ.กล่าว เเละว่าเนื่องจากขณะนี้มะเร็งเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของโลก ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละ 67,000 ราย เป็นอันดับ 1 ในประเทศต่อเนื่องมา 13 ปี ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 120,000 กว่าราย
ด้านนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การฝังแร่รักษาโรคมะเร็งมี 2 รูปแบบหลัก คือ
1.การใส่แร่แบบชั่วคราว จะใส่ในอวัยวะที่เป็นมะเร็งหรือใกล้เคียง ให้ตัวแร่ปล่อยรังสีออกมาตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วดึงแร่ออก ไม่มีเม็ดแร่และรังสีตกค้างในตัวผู้ป่วยไม่เกิดอันตรายแก่บุคคลรอบข้าง ที่ใช้บ่อยคือ อิริเดียม-192, ซีเซียม-137 นิยมใช้รักษามะเร็งปากมดลูกและมดลูก
2.การฝังแร่แบบถาวร ตัวแร่จะค้างอยู่ในอวัยวะและปล่อยรังสีอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยปล่อยรังสีน้อยลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาครึ่งชีวิตของแร่ประเภทนั้น ที่ใช้ในปัจจุบันคือแร่ไอโอดีน-125 แบบถาวรในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเม็ดแร่หุ้มอยู่ในแคปซูลไททาเนียม ขนาดกว้าง 1 ม.ม. ยาว 5 ม.ม. มีค่าครึ่งชีวิต 60 วัน ให้รังสีแกมม่าพลังงานต่ำเพียง 28 กิโลอิเล็คตรอนโวลท์ (KeV) ซึ่งเทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับจากการตรวจเอ็กซเรย์เต้านม และสามารถแพร่รังสีถึงบุคคลข้างเคียงได้ ปริมาณรังสีที่แพร่ขึ้นอยู่กับจำนวนเม็ดแร่ที่ฝัง
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ใช้วิธีฝังแร่รักษาโรคมะเร็งมานานแล้ว มีโรงพยาบาลที่ให้บริการใส่แร่แบบชั่วคราวทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 22 แห่ง สำหรับผลกระทบด้านสุขภาพจากการได้รับรังสีขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลา หากได้รับน้อยแต่ยาวนาน ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอาการอย่างไรและรุนแรงเพียงใด จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมในร่างกาย
"หากได้รับรังสีปริมาณมากในระยะสั้น อาการจะมีความรุนแรงตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า ผมร่วง ท้องร่วง ตกเลือด ระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลาย หมดสติ"
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคมะเร็งรูปแบบต่าง ๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ข้อมูลการรักษาโรคมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หมายเลข 0 2354 7036, 0 2354 8898 และโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่ง ที่จ.ลพบุรี อุดรธานี อุบลราธานี ลำปาง ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และปทุมธานี
อย่างไรก็ดี ในกรณีผู้ป่วยมะเร็งที่เดินทางไปรักษาที่ต่างประเทศมาแล้ว นพ.สุพรรณ ระบุว่า ไม่ต้องตกใจ ขอให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด หากไม่แน่ใจว่าได้รับการฝังแร่ไอโอดีน-125 มาหรือไม่ ขอให้ติดต่อเพื่อรับการตรวจสอบได้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติและโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาคทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ฟรี ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการฝังแร่มาแล้ว และต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลในประเทศไทย ขอให้แจ้งข้อมูลให้โรงพยาบาลทราบด้วย เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษา
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปตรวจสอบข้อเท็จจริงสถานที่ระบุตามโฆษณา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 พบว่า เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาโรคมะเร็งเฉพาะทาง (ประเทศไทย) ไม่มีการรักษาใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเน้นเฉพาะการทำความเย็นเท่านั้น
ส่วนการฝังแร่เป็นการโฆษณาของโรงพยาบาลอีกแห่ง ซึ่งอยู่ที่อาคารฟอรั่ม ถนนรัชดาภิเษก กทม. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป และจะส่งหนังสือแจ้งรพ.ที่ฝังแร่แห่งนี้ให้ทราบว่า การโฆษณาที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายไทยว่าด้วยการโฆษณาสถานพยาบาล และขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางของไทยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สถานพยาบาล พ.ศ.2541 แม้จะไม่ได้เปิดบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
พร้อมกันนี้ ยังจะหารือกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศดังกล่าว ว่าโรงพยาบาลได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และวิธีการรักษาฝังแร่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่อย่างไร นอกจากนี้จะทำหนังสือไปกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือกับกระทรวงสาธารณสุขประเทศนั้น ๆ ด้วย
รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบการโฆษณาของโรงพยาบาลในต่างประเทศ ที่เชิญชวนผู้ป่วยมะเร็งไปรักษาทางโซเชียลมีเดีย หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ฯลฯ ของโรงพยาบาลที่เป็นข่าว ในเบื้องต้นนี้ไม่สามารถใช้กฎหมาย คือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ดำเนินการได้ เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่ที่ต่างประเทศ แต่ในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการให้บริการของโรงพยาบาล สามารถใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:‘ฝังแร่ถาวร’ ภาครัฐอย่าคิดแค่ว่า "รพ.อยู่เมืองจีน เราไม่สามารถทำอะไรได้