มธบ.เปิดดัชนีคุณภาพชีวิต ชี้คนไทยชักหน้าไม่ถึงหลัง เครียดชีวิตความเป็นอยู่
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจดัชนีคุณภาพชีวิตของคนไทยชี้ คุณภาพชีวิตคนไทยในไตรมาสที่ 1 ได้แค่เกรด C พบคนไทยขาดการออกกำลัง พักผ่อนน้อย เครียดด้านชีวิตความเป็นอยู่ และรายจ่ายมากกว่ารายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง
วันที่ 21 เมษายน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,190 คน จาก 22 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อจัดทำดัชนีคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยทำการสำรวจระหว่าง 10 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2558 แบ่งกรอบการประเมินออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ครอบครัวและสังคม และเศรษฐกิจ ประเมินด้วยการให้คะแนนตั้งแต่ 1 คะแนน (ต่ำสุด) จนถึง 5 คะแนน (สูงสุด)
ผลการสำรวจพบว่า ด้านสุขภาพกาย ด้านความแข็งแรงของร่ายกายได้ 3.38 คะแนน การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสมได้ 3.37 คะแนน การมีเวลาในการออกกำลังกายอย่างเพียงพอได้ 2.75 คะแนน และการมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอได้ 3.18 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกายที่มีความรุนแรงที่สุด คือ การไม่มีเวลาออกกำลังกายและการพักผ่อน
ด้านสุขภาพจิต คะแนนความพึงพอใจกับสภาพแวดล้อมในชุมชนได้ 3.37 คะแนน ความพึงพอใจกับการใช้ชีวิตในสังคมได้ 3.32 คะแนน ความเครียดกังวลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ได้ 2.86 คะแนน และความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ 3.50 คะแนน จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่
ด้านครอบครัวและสังคม การมีเวลาให้ครอบครัวอย่างเพียงพอได้ 3.08 คะแนน ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในครอบครัวได้ 3.58 คะแนน การมีโอกาสทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ 3.24 คะแนน และความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในชุมชนได้ 3.39 คะแนน จะเห็นได้ว่า ปัญหาด้านครอบครัวที่สำคัญที่สุด คือ การมีเวลาให้กับครอบครัวไม่เพียงพอ
ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงในหน้าที่การงานได้ 3.32 คะแนน การมีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายได้ 2.85 คะแนน ความสามารถในการเก็บออมเงินได้คะแนน 2.94 และความพึงพอใจกับฐานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ 3.14 คะแนน จากผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาด้านรายได้และการออมเงินเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจมากที่สุด
เมื่อนำเอาคะแนนที่ได้ในแต่ละด้านมาคิดเป็นสัดส่วนของคะแนนเต็ม 5 พบว่า ด้านสุขภาพกายได้ 63.4% ด้านสุขภาพจิตได้ 65.3% ด้านครอบครัวและสังคมได้ 66.5% และด้านเศรษฐกิจได้ 61.3% เมื่อนำมาคำนวณสัดส่วนในภาพรวมจะได้ 64.1%
หากแบ่งช่วงคุณภาพชีวิตเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A ได้ 85% ขึ้นไป ระดับ B+ ระหว่าง 80% ถึง 84% ระดับ B ระหว่าง 75% ถึง 79% ระดับ C+ ระหว่าง 70% ถึง 74% ระดับ C ระหว่าง 65% ถึง 69% ระดับ D+ ระหว่าง 60% ถึง 64% และระดับ D ต่ำกว่า 60% จะพบว่า คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกายอยู่ในระดับ D+ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตอยู่ในระดับ C คุณภาพชีวิตด้านครอบครัวและสังคมอยู่ในระดับ C และคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับ D+ และโดยภาพรวมแล้วระดับคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับ C
นอกจากนี้แล้ว ในการสำรวจครั้งนี้ ยังมีการสอบถามความเห็นในสองประเด็นด้วยกัน คือ ปัญหาสำคัญด้านการศึกษาที่ควรได้รับการแก้ไข และการเลือกตั้ง ซึ่งพบว่า ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาที่ควรได้รับการแก้ไข 5 อันดับแรก คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กสามารถคิดเป็นทำได้ การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สำหรับประเด็นด้านการเลือกตั้งนั้น เมื่อสอบถามว่า หากมีการเลือกตั้งภายในปี 2558 จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ 54% เชื่อว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก 8% ไม่เกิดความขัดแย้ง และอีก 38% ไม่แน่ใจ
ด้านระยะเวลาที่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง 24% ระบุว่า ควรจัดในปี 2558 36% ควรจัดในปี 2559 30% ควรจัดในปี 2560 และอีก 10% ระบุว่า ควรจัดเมื่อมีความพร้อม