อ.เนาวรัตน์ หนุนเปิดพื้นที่วัฒนธรรม ป้องกันของเก่าหาย ของใหม่หด
‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ อภิปรายร่าง รธน.ชี้ปฏิรูปวัฒนธรรมเป็นการปรับสมดุลประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างอำนาจ หนุนเปิดพื้นที่งานวัฒนธรรม ปชช.เข้าใจ ศิลปินได้ประโยชน์
วันที่ 21 เมษายน 2558 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่สอง
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูป ค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา กล่าวถึงประเด็นขอแก้ไขและขยายความในร่างรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 94 รัฐต้องส่งเสริมวัฒนธรรมหรือศิลปะหรือคำนึงถึงวัฒนธรรมในทุกมิติ เพื่อให้เป็นรากฐานเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น บริหารจัดการวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาคุณค่า และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสังคม เปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ ต้องส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ
ประธาน กมธ.ปฏิรูป ค่านิยม ศิลปวัฒนธรรมฯ ระบุว่า มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการส่งเสริมวัฒนธรรมทุกมิติ หมายถึง ต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตในทุกมิติของสังคมนั้น ๆ ไม่ใช่เฉพาะจารีตประเพณี เพราะเอกลักษณ์และท้องถิ่นมีความสำคัญ ด้วยแสดงถึงอัตลักษณ์ และไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ถือเป็นความงามของวัฒนธรรม
“เสียงที่แตกต่างกันมารวมกันอย่างลงตัว กลายเป็นความไพเราะของดนตรี ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นความงดงามของวิถีที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นอารยะได้”
สำหรับการบริหารพัฒนาคุณค่า นายเนาวรัตน์ กล่าวว่า หากดำเนินการด้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นเรื่องเป็นราวจะสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล โดยปัจจุบันงานวัฒนธรรมมิได้มีหน้าที่เพียงเยียวยาจิตใจเท่านั้นแต่ยังเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมไม่ให้ต่างชาติมีอิทธิพลเข้ามากลืนชาติได้ จึงเปรียบงานวัฒนธรรมเป็นลูกศรที่จุ่มน้ำผึ้ง ภาษิตอาหรับระบุว่า การจะพูดสัจจะหรือใช้สัจจะบางอย่างต้องนำศรจุ่มน้ำผึ้งเสียก่อน
สิ่งสำคัญ คือ การเปิดพื้นที่งานวัฒนธรรม ซึ่งหลายจังหวัดได้เปิดพื้นที่และนำงานด้านศิลปวัฒนธรรมเข้ามา ประชาชนจะได้เข้าใจ และศิลปินจะได้รับประโยชน์ ด้วยมีพื้นที่ในการแสดง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ของเก่าหาย ของใหม่หด เพราะศิลปินไม่มีพื้นที่ ทุกอย่างถูกกำหนดด้วยราชการและเอกชนเท่านั้น ฉะนั้นภาคประชาชนต้องมีบทบาทมากขึ้น
“การปฏิรูปงานด้านวัฒนธรรมครั้งนี้ถือเป็นการปรับสมดุลของประเทศครั้งสำคัญ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างอำนาจ”
ประธาน กมธ. ปฏิรูป ค่านิยม ศิลปะวัฒนธรรมฯ ยังกล่าวถึง การปฏิรูปด้านวัฒนธรรมที่กำลังเป็นวิกฤต คือ วาทกรรม ซึ่งใช้ตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ประชาธิปไตย รัฐประหาร หรือแม้กระทั่งปฏิรูป ทั้งนี้ คำว่า ‘รัฐประหาร’ ความจริงแล้วเป็นความคิดรวบยอดโค่นล้มอำนาจซึ่งกันและกัน แต่มิได้หมายความว่า การรัฐประหารดี ซึ่งความจริงในแต่ละครั้งมีภาวะแตกต่างกัน โดยรอบที่แล้ว คือ รัฐประหารรัฐด้วยภาวะล้มเหลว
“สภาปฏิรูปแห่งชาติเกิดขึ้น เพราะความขัดแย้งในความคิดที่ว่า เลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งผมเคยวิจารณ์ โดยเปรียบการเลือกตั้งเหมือนได้ใบขับขี่ และนำใบขับขี่มาทำผิดกฎจราจร สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เพราะการได้มาของอำนาจกับการใช้อำนาจคนละขั้นตอน”
นายเนาวรัตน์ จึงเปรียบการเลือกตั้งเหมือนเครื่องกรองน้ำ ไส้กรองมีอายุ มิฉะนั้นเอาน้ำดีใส่ลงไปจะกลายเป็นน้ำเน่า ระบบการเลือกตั้งเช่นกัน หากปล่อยให้เป็นอย่างนั้นจะมีน้ำเน่าเข้าสภาไม่จบสิ้น ฉะนั้น ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เหมือนเครื่องกรองน้ำ เพื่อให้มีน้ำดีเข้าสภา
“วัฒนธรรมทางความคิดผูกติดทางวาทกรรม และขณะนี้วาทกรรมกลายเป็นกับดักของสังคมไทยที่ก้าวไม่พ้น” .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์โอเคเนชั่น