เปิดผลสอบเงิน"เอแบคโพลล์"จ่ายอุตลุด"ซื้อสุนัข-ค่าตอบแทนสื่อ-เลี้ยงอาหาร ตร."
"ทั้งนี้ คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงสรุปประเด็นปัญหาภายในเอแบคโพลล์ว่ามีปัญหาประสิทธิภาพการบริหารบุคลากรภายในองค์กรโดยผู้บริหารองค์กร, ปัญหาประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กร, ปัญหาประสิทธิภาพการบริหารระบบการเงินการคลัง, ปัญหาการทุจริตของบุคลากรในองค์กร"
นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา!
สำหรับปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณของ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์และหน่วยงานเครือข่าย ซึ่งถูก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง "ผู้เกี่ยวข้อง"
หลังพบว่ามีปัญหาหลายประการเกิดขึ้นในขั้นตอนการบริหารงาน ที่นำไปสู่ความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัย รวมมูลค่ากว่า 48,496,608.14 บาท
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี สำนักวิจัยเอแบคโพลล์และหน่วยงานเครือข่าย มาสรุปประเด็น เพื่อให้สาธารณชนรับทราบแบบชัดๆ ดังนี้
@ จุดเริ่มต้น
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีคำสั่ง ที่ 160/2557 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินงานของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
เนื้อหาส่วนแรกของรายงาน ระบุเนื้อหาว่า ตามที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีคำสั่งที่ 160/2557 ฉบับลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินงานของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และหน่วยงานเครือข่าย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย คณะกรรมการได้ดำเนินการภายหลังได้ได้รับคำสั่งแต่งตั้งและใช้เวลารวม 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2557
รายงานดังกล่าว ประกอบด้วยสาระสำคัญ 8 ข้อ คือ
1.แนวทางการหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ
2.โครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
3.บุคคลและหน่วยงานที่คณะกรรมการเชิญมาให้ข้อมูลและเรียกให้ส่งข้อมูล
4.ข้อเท็จจริงและปัญหาที่พบ
5.ข้อพิจารณาใน 7 ประเด็น
6.สรุปปัญหาที่พบ
7.ความเห็นของคณะกรรมการ
8.ข้อเสนอของคณะกรรมการ
@ เปิดเส้นทางรับงาน-เบิกเงิน
ในรายงานสอบข้อเท็จจริงฉบับนี้ ระบุถึงขึ้นตอนและวิธีการดำเนินโครงการรับจ้างทำวิจัยของเอแบคโพลล์ นับแต่ขั้นตอนที่ผู้บริหารและนักวิจัยของเอแบคโพลล์ทั้ง 3 ศูนย์ คือศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ABAC ANCHOR) , ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางสังคมและการจัดการทางธุรกิจ (ABAC SIMBA) หรือสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ (ABAC POLL Reserch Center ) แล้วแต่กรณี จะเป็นผู้ติดต่อรับงานจากผู้ว่าจ้างโดยตรงและนำมาทำโครงการ ตั้งงบประมาณ รายรับรายจ่าย
จากนั้น จะเสนอขออนุมัติผู้บริหารสำนักเอแบคโพลล์ และอธิการบดี ตามลำดับโดยเบิกจ่ายงบประมาณผ่านสำนักบริหารการเงิน ซึ่งมีการมอบหมายให้ ผู้อำนวยการศูนย์ ABAC ANCHOR เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
เมื่อได้รับอนุมัติโครงการแล้ว จึงมีการเบิกเงินล่วงหน้าจากมหาวิทยาลัยตามจำนวนที่ได้รับอนุมัติในแต่ละโครงการ ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์ ABAC ANCHOR ขณะนั้น เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายเป็นหลัก
ในส่วนของการทำสัญญาและการติดตามเร่งรัดค่าจ้างทำวิจัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ ABAC ANCHOR รายนี้ จะแจ้งให้ เลขานุการของผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และผู้ช่วยนักวิจัยรายหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบประสานการทำสัญญาทราบ และดำเนินการติดต่อผู้ว่าจ้างเพื่อทำสัญญา โดยใช้แบบสัญญาของเอแบคโพลล์ ไม่ผ่านฝ่ายนิติการและอำนวยการของมหาวิทยาลัย ขณะที่ ขั้นตอนของการเบิกและเคลียร์เงินเบิกล่วงหน้า
สาระสำคัญตอนหนึ่งจากรายงานคณะกรรมการหาข้อเท็จจริง ระบุว่าเมื่อผู้อำนวยการศูนย์ ABAC ANCHOR ขณะนั้น จัดทำงบประมาณโครงการและได้รับการอนุมัติจากผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์และอธิการบดีแล้ว ผู้ช่วยนักวิจัยที่ทำหน้าที่เบิกเงินล่วงหน้าจากมหาวิทยาลัยตามงบประมาณรายจ่าย จะทำเรื่องเสนอผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
@ ปัญหาการเงิน สร้างความเสียหายมากกว่า 48 ล.
ทั้งนี้ ในกระบวนการตรวจสอบรายละเอียดของขั้นตอนการเบิกเงินนี้เอง คณะกรรมการหาข้อเท็จจริง พบประเด็นปัญหาที่สำคัญ 7 ประเด็น คือ
1.มีลูกหนี้เงินเบิกล่วงหน้าค้างเคลียร์และต้องชำระคืนเป็นจำนวนมาก
2. มีรายได้วิจัยค้างรับเป็นจำนวนมากถึง 33 โครงการ รวมเป็นเงิน 16,386,163.70 บาท ( สิบหกล้านสามแสนแปดหมื่นหกพันหนึ่งร้อยหกสิบสามบาทเจ็ดสิบสตางค์ )
3.เกิดผลต่างการจัดทำโพลล์สาธารณะที่ไม่มีการแสดงรายการ จำนวน 11,590,609.13 บาท ( สิบเอ็ดล้านห้าแสนเก้าหมื่นหกร้อยเก้าบาทสิบสามสตางค์ )
4.มีรายการนำฝากเงินโดยตรงเข้าบัญชีของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เลขที่บัญชี 425-1-347XX-X บัญชีศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคมการจัดการและธุรกิจ เลขที่บัญชี 425-1-258XX-X และ บัญชี ABAC ANCHOR เลขที่บัญชี 425-1-299XX-X โดยไม่ผ่านระบบการเงินของมหาวิทยาลัย เป็นจำนวนเงิน 17,292,009.93 บาท แต่มีการถอนโดยโอนเข้าบัญชีของมหาวิทยาลัยผ่านระบบการเงินของมหาวิทยาลัย เป็นจำนวนเงิน 8,924,840.00 บาท
รายงานคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงระบุด้วยว่า ผู้ที่รับผิดชอบดูแลบัญชีขณะนั้น คืออดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ จะต้องนำเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้โอนเข้าบัญชีของมหาวิทยาลัย จำนวนเงิน 8,367,169.93 บาท มาคืนมหาวิทยาลัย เนื่องจากบัญชีและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีที่ปรากฏเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
5.มีการนำเงินไปใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์และรายการงบประมาณ
6. การควบคุมและตรวจสอบการใช้งบประมาณและหลักฐานการเบิกจ่ายเงินและการเคลียร์ที่ไม่เคร่งครัด อาทิ มีการใช้เอกสารที่ไม่ตรงกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการใช้สำเนาบัตรประชาชนในการรับเงินค่าตอบแทนมาแสดงสลับกันในแต่ละโครงการ เพื่อให้ได้ยอดเงินครบตามที่ระบุไว้ในงบประมาณ
7.ความเสียหายของมหาวิทยาลัย โดยรายงานข้อเท็จจริงระบุว่า “คณะกรรมการได้ให้สำนักงานบริหารการเงินตรวจสอบรายการเบิกจ่ายงบประมาณการดำเนินโครงการรับจ้างทำวิจัย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549-2556 แล้วพบยอดหนี้ค้างชำระรวมถึงการทำโพลล์สาธารณะและเงินที่รับเข้าบัญชีส่วนบุคคลโดยไม่ผ่านมหาวิทยาลัย สรุปได้ดังนี้ ( ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 )
7.1 รายได้วิจัยค้างรับ จำนวน 33 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 16,388,163.70 บาท
7.2 ลูกหนี้เงินเบิกล่วงหน้าค้างเคลียร์ จำนวน 19 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 12,150,665.38 บาท
7.3 ผลต่างการทำโพลล์สาธารณะที่ไม่มีการแสดงรายการ เป็นจำนวนเงิน 11,590,609.13 บาท
7.4 เงินที่รับเข้าบัญชีโดยไม่ผ่านมหาวิทยาลัย เป็นเงินจำนวน 8,367,169.93 บาท
รวมเป็นเงิน 48,496,608.14 บาท ( สี่สิบแปดล้านสี่แสนเก้าหมื่นหกพันหกร้อยแปดบาทสิบสี่สตางค์ )
@ ใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์ กว่า 16 ล. ทุ่มจ่ายสื่อ 4.4 ล.
ประเด็นปัญหาตอนหนึ่งที่ถูกระบุไว้ในรายงานผลสอบข้อเท็จจริง คือมีการนำเงินไปใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์และรายการงบประมาณ รายงานระบุว่าตั้งแต่ปี 2550-2556 เอแบคโพลล์มีค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยในกรณีต่างๆ รวมเป็นเงิน 16,827,767.96 บาท
"เงินดังกล่าวเป็นเงินของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น การใช้จ่ายต้องแสดงรายการงบประมาณรายรับ-รายจ่าย และต้องได้รับอนุมัติจากท่านอธิการบดีก่อน ซึ่งคณะกรรมการไม่พบหลักฐานการอนุมัติจากท่านอธิการบดีในการใช้จ่ายเงินส่วน นี้ของเอแบคโพลล์”
การใช้จ่ายรวมวงเงินมากกว่า 16 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
1.ค่าจ้างลูกจ้างประจำและชั่วคราว จำนวน 122 รายการ เป็นเงิน 1,539,108 บาท
2.ค่าล่วงเวลาบุคลากร จำนวน 275 รายการ เป็นเงิน 228,343 บาท
3.ค่าตำแหน่งบุคลากร เป็นเงินรวม 973,400 บาท
4.ค่าสวัสดิการรักษาพยาบาล จำนวน 52 รายการ เป็นเงินรวม 107,504 บาท
5.ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในสำนักงาน จำนวน 168 รายการ เป็นเงินรวม 1,742,737.45 บาท
6.เงินโบนัสและค่าตอบแทนพิเศษแก่บุคลากร จำนวน 45 รายการ รวมเป็นเงิน 1,626,725 บาท
7.เงินใส่ซองและสนับสนุนงบงานประเพณีต่างๆ จำนวน 69 รายการ รวมเป็นเงิน 220,032 บาท
8.ค่าตอบแทนเครื่องดื่ม อาหารว่างแก่ตำรวจ จำนวน 133 รายการ เป็นเงินรวม 281,714 บาท
9. ค่ารักษาพยาบาล ค่าสินไหม และค่าใช้จ่ายกรณีอุบัติเหตุจากกการทำวิจัย จำนวน 62 รายการ เป็นเงิน 470,155 บาท
10.การให้ทุนการศึกษาและอบรมแก่บุคลากร จำนวน 38 รายการ รวมเป็นเงิน 1,019,370 บาท
11.ค่าบริการโทรศัพท์รายเดือน ระบบ DTAC จำนวน 51 รายการ รวมเป็นเงิน 4,198,179.51 บาท
12.ค่าตอบแทนสื่อมวลชน จำนวน 163 รายการ รวมเป็นเงิน 4,420,500 บาท รายงานระบุรายชื่อนักข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ว่าเป็นผู้ที่รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด เป็นเงิน 2,150,866 บาท
@ เสนอมหาวิทยาลัยดำเนินคดี-ระบุชัด มีปัญหาในองค์กร
คณะกรรมการหาข้อเท็จจริง มีข้อเสนอแนะด้วยว่ามหาวิทยาลัยควรมอบให้ทนายความดำเนินการแจ้งให้บุคคลทั้ง 4 ที่มีส่วนในการรับผิดชอบการติดตามรายได้วิจัยค้างรับ, ลูกหนี้เงินเบิกล่วงหน้า, ผลต่างการทำโพลล์สาธารณะ และเงินที่รับเข้าบัญชีโดยไม่ผ่านมหาวิทยาลัย ตามข้อพิจารณาในประเด็นที่ 7
เบื้องต้น มีการตรวจสอบพบว่า มีผู้เกี่ยวข้องบางราย เป็นผู้ร่วมเปิดบัญชีคณะบุคคล และนำเงินเบิกล่วงหน้าจากมหาวิทยาลัยไปใส่ไว้ในบัญชีตนเองเพื่อให้มีกระแสเงินเดือนต่อเนื่องอันเป็นประโยชน์ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ ข้อเสนอจากคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงยังระบุด้วยว่าควรทำหนังสือแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เคยเป็นผู้ว่าจ้างทำวิจัยทุกราย ให้รับทราบถึงสถานภาพของ ผู้เกี่ยวข้องที่ถูกตั้งข้อสังเกต จำนวน 4 ราย ว่าพ้นสภาพจากการเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยแล้ว การกระทำใดๆ ของบุคคลดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอีกต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการหาข้อเท็จจริง สรุปประเด็นปัญหาภายในเอแบคโพลล์ว่ามีปัญหาประสิทธิภาพการบริหารบุคลากรภายในองค์กร โดยผู้บริหารองค์กร, ปัญหาประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กร, ปัญหาประสิทธิภาพการบริหารระบบการเงินการคลัง และปัญหาการทุจริตของบุคลากรในองค์กร
@ 'นพดล' ยันทำถูกต้อง-ไม่รับนัดสัมภาษณ์ปมความเสียหายในเอแบคโพลล์
ขณะที่ นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้ทำทุกอย่างอย่างถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัย และให้ข้อมูลแก่อธิการบดีไปแล้ว เรื่องดังกล่าวจบไปแล้ว
…
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการบริหารงานของ "สำนักวิจัยเอแบคโพลล์" ที่กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมากในห้วงเวลานี้
อ่านประกอบ :
"นพดล"ยันทำทุกอย่างถูกต้อง หลัง'อัสสัมชัญ' สั่งสอบปมค่าใช้จ่ายงบเอแบคโพลล์ 48 ล.
ชื่อ"นักข่าว"หราโผล่รับเงิน 2 ล.!ผลสอบระบุ"เอแบคโพลล์"ทุ่มจ่ายสื่อ 4.4 ล.
จี้อธิการฯ ฟันผู้เกี่ยวข้องปม"เอแบคโพลล์"-ปธ.สอบฯ ระบุ"ทำหน้าที่จบแล้ว"
สภาฯหนังสือพิมพ์ สั่งสอบปม "นักข่าวทีวีปริศนา" รับเงิน เอแบคโพลล์ 2.1 ล.
ภาพประกอบจาก : www.google.co.th
“