“วสันต์”อภิปราย รธน.ใหม่ ชูกลไกป้องรัฐแทรกแซงสื่อ-ปราบทุจริต
“…โดยเฉพาะที่มีการระบุถึงการซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชน จะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเพื่อการนั้นโดยเฉพาะ นอกจากนี้ในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อเอกชนโดยรัฐ ซึ่งที่ผ่านมามีการทุจริต และเบียดบังเงินของรัฐไปเป็นจำนวนมาก มีการเรียกร้องรับผลประโยชน์มหาศาล และใช้งบประมาณในส่วนนี้เพื่อแทรกแซงสื่อ…”
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวตอนหนึ่งถึงสิทธิและเสรีภาพของสื่อในร่างรัฐธรรมนูญระหว่างการอภิปรายที่รัฐสภาว่า ในส่วนของสิทธิเสรีภาพสื่อตามมาตรา 48, 49 และ 50 โดยหลักการก็เห็นด้วย มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเสรีภาพการสื่อสารมวลชนบนความรับผิดชอบและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และมีบทบัญญัติป้องกันการแทรกแซงจากรัฐและทุนดีขึ้น
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะที่มีการระบุถึงการซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชน จะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเพื่อการนั้นโดยเฉพาะ นอกจากนี้ในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อเอกชนโดยรัฐ ซึ่งที่ผ่านมามีการทุจริต และเบียดบังเงินของรัฐไปเป็นจำนวนมาก มีการเรียกร้องรับผลประโยชน์มหาศาล และใช้งบประมาณในส่วนนี้เพื่อแทรกแซงสื่อ
“อยากเรียนว่าขณะนี้ กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ และ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กำลังร่วมกันทำงาน เพื่อกำหนดหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาให้สอดคล้องกับที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดมาตรานี้ขึ้นมาด้วย”
ส่วนเรื่องขององค์การวิชาชีพสื่อนั้น นายวสันต์ กล่าวว่า ถือเป็นอีกมิติที่ใหม่ขึ้น เพราะที่ผ่านมาให้ความสำคัญแต่ในส่วนการกำกับกันเองของสื่อ ทั้งนี้คิดว่าการกำกับกันเองของสื่อเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่เพียงพอ เราจำเป็นจะต้องมีการกำกับโดยภาคประชาชนเข้ามาเสริม เพื่อให้การกำกับกันเองของสื่อมีความแข็งแรงมากขึ้น
“องค์การวิชาชีพสื่อตรงนี้ จะช่วยให้ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อได้ดีขึ้น ส่งเสริมจริยธรรม และยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพ และช่วยให้การกำกับกันเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นอกจากนี้ นายวสันต์ ยังเน้นย้ำถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคมแห่งชาติด้วยว่า ควรมีบทบาทมากกว่าการเป็นฝ่ายกำกับหรือจัดการ ถ้าเป็นอย่างนั้น สมควรให้ตัดออก เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดการแทรกแซงสื่อโดยรัฐหรือข้าราชการประจำได้โดยง่าย
ขณะเดียวกัน นายวสันต์ ยังเสนอถึงกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรัฐธรรมนูญ โดยต้องการให้ระบุตามที่ กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯเลยว่า ให้พลเมืองมีสิทธิหน้าที่ในการป้องกันดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของรัฐ รวมไปถึงการป้องกัน ปฏิเสธ และป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่ช่วยราชการ แต่ถือเป็นหน้าที่หลักของประชาชนพลเมือง เพราะการทุจริตมีผลกับทุกคน ทำให้ชาติอ่อนแอ ล้าหลัง มีผลกับคุณภาพชีวิต และกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยรวม ทุกคนคือผู้เสียหาย และเราทุกคนเสียภาษีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
นายวสันต์ อธิบายว่า การต่อสู้กับการทุจริต สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของประชาชน จึงเห็นด้วยที่มีสภาตรวจสอบภาคพลเมือง และกองทุนจัดตั้งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ประชานมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตให้มากขึ้น เอาให้เหมือนกับที่ให้เห็นพิษภัยของเหล้าและบุหรี่ จึงอยากให้เขียนส่วนนี้ในรัฐธรรมนูญด้วย
อ่านประกอบ : รธน.ใหม่ป้องรัฐแทรกแซงสื่อดีขึ้น! “วสันต์”ปูดอดีตทุจริต-รับเงินมหาศาล
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายวสันต์ จาก bangkokbiznews