‘พังงา’ ครองแชมป์มีพื้นที่ 'ป่าชายเลน' มากสุด
กรมทรัพยากรทางทะเลฯ จำแนกใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน ปี 57 พบทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 52 ราว 6 หมื่นไร่ ‘พังงา’ ครองแชมป์มากสุด อธิบดี ทช.ชูนโยบายนายกฯ จัดการป่าชายเลนอนาคต เน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้าน-ป่าชุมชน-ป่าเศรษฐกิจ-ป่าสมบูรณ์
วันที่ 20 เมษายน 2558 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน พ.ศ.2557 ณ ห้องประชุม วนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ บางเขน
ผศ.ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ เปิดเผยถึงผลการดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2557-วันที่ 10 พฤษภาคม 2558 รวม 240 วัน เพื่อทราบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนระหว่างปี 2543-57 สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ 24 จังหวัด ชายฝั่งทะเลของไทย รวมทั้งจัดทำข้อมูลแปลงที่ดินและพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่ดินของรัฐ จ.นครศรีธรรมราช
โดยในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นขั้นตอนลำดับสุดท้าย เบื้องต้นจากการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียม Landsat 8 มีข้อสรุปว่า ปี 2557 ไทยมีป่าชายเลนทั้งหมด 1,592,059.75 ไร่ โดย จ.พังงา มีชายฝั่งป่าชายเลนมากที่สุด 246,937.68 ไร่
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล ปี 2552 จำนวน 1,525,000 ไร่ พบมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 ไร่
นักวิชาการ มก. กล่าวต่อว่า สำหรับการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน ปี 2557 แบ่งเป็น ป่าชายเลนที่พบในขอบเขตการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปี 2543 จำนวน 1,428,998.87 ไร่ ป่าชายเลนที่พบนอกขอบเขตการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปี 2543 จำนวน 163,060.88 ไร่ ป่าชายหาด 23,687.77 ไร่ ป่าพรุ 20,923 ไร่ ป่าบก 16,617.57 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 439,234.53 ไร่
นาเกลือ 155,772.92 ไร่ พื้นที่เกษตรกรรม 341,031.17 ไร่ เมืองและสิ่งก่อสร้าง 102,485.11 ไร่ ท่าเทียบเรือ 446.01 ไร่ พื้นที่ทิ้งร้าง 9,419.36 ไร่ เลนงอก/หาดเลน 47.444.12 ไร่ แบ่งเป็นเลนงอก/หาดเลนที่พบในขอบเขตการจำแนกฯ 9,955.85 ไร่ เลนงอก/หาดเลนที่พบนอกเขตการจำแนกฯ 37,488.27 ไร่ หาดทราย 1,116.78 ไร่ และพื้นที่เปลี่ยนแปลงบริเวณชายฝั่ง 108,344.40 ไร่ ส่วนพื้นที่เหมืองแร่ไม่ปรากฏข้อมูล
“ที่ผ่านมามีพื้นที่ป่าชายเลนบางแห่งถูกบุกรุก และบางแห่งได้รับการฟื้นฟูจากกิจกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ ปี 2539 โดยมีชุมชนร่วมอนุรักษ์”
ผศ.ดร.วีระภาส กล่าวถึงสาเหตุที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกน้อย เพราะชักลากไม้ลำบาก จึงบุกรุกป่าบกง่ายกว่า ยกเว้นพื้นที่ใกล้เสื่อมสภาพ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราลดลงคงตัว
ด้านนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ผ่านมาติดขัด เพราะไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 24 มิถุนายน ศกนี้ จะสามารถจัดการป่าชายเลนได้ โดยให้อำนาจอธิบดีในการอนุญาต ใช้ประโยชน์ หรือจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
สำหรับการออกกฎกระทรวง อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กล่าวว่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้แทนภาคประชาชนอยู่ด้วย ตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องสิทธิชุมชนค่อนข้างมาก พร้อมกันนี้ ยังเตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งกำลังหารือร่วมกับกรมป่าไม้
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมการจัดการป่าชายเลนในอนาคต ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมพื้นที่หมู่บ้าน ป่าชุมชน ป่าสมบูรณ์ และป่าเศรษฐกิจ" นายชลธิศ กล่าว เเละว่า โดยเฉพาะป่าเศรษฐกิจ หากปล่อยให้ไม้สลายไป ขาดการใช้ประโยชน์ จะทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน เพราะทันทีเกิดการย่อยสลาย ธรรมชาติจะคืนก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์และอื่น ๆ กลับสู่อากาศ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน ปี 2557 ยึดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน ปี 2543 จัดเก็บในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และขอบเขตการปกครองของไทยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2552 จัดเก็บในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ .
พื้นที่จำเเนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน ปี 2557