ดร.บวรศักดิ์ ยันบทบัญญัติ รธน.ปี 2550 กว่า 70% ที่ดี ยังคงอยู่ในร่างนี้
“อลงกรณ์ พลบุตร” อภิปรายเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรก เป็นคนแรก ระบุ ฉบับนี้แปลก แหวกแนว และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เต็มไปด้วยกลิ่นอายของน้ำพริกปลาทู
วันที่ 20 เมษายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ร่างแรก ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเสร็จทั้ง 315 มาตราโดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม โดยจะมีการอภิปราย ต่อเนื่องไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน
ช่วงแรกศาสตราจารย์ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงสาเหตุที่ยังไม่มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนและสื่อมวลชน เจตนารมณ์และภาพรวมร่างรัฐรรมนูญ ที่ได้ยึดหลักความพอประมาณ มีเหตุผล และคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ อีกทั้งใช้หลักภูมิคุ้มกัน
“อะไรที่ดีๆ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเก็บไว้หมด จนกล่าวได้ว่า อย่างน้อยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 มีกว่า 70% ที่ดี ยังคงอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ และเราถือหลักว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างมาตราฐานต้องไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ”
ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้พลเมืองเป็นใหญ่อย่างแท้จริงในอนาคต รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในภาค 4 หมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วยการปฏิรูป คือการสร้างอนาคตให้ลูกหลาน ให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สงบ สันติ สุขและทัดเทียมอารยประเทศ
"แม้กรรมาธิการยกร่างฯ จะพยายามสุดความสามารถทั้งสติปัญญา กำลังกาย ที่มีอยู่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วก็ตาม เชื่อว่า ยังไม่สมบูรณ์ 100% ต้องการให้สปช.ทั้ง 250 คนรังสรรค์ ปั้นแต่งเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกมาดีที่สุด การรับฟังความเห็นประชาชนทั้งประเทศ เป็นความปรารถนาแท้จริงของคณะกรรมาธิการ" ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าว และแสดงความหวังว่า 7 วันหลังจากนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุด รวมถึงมีการบัญญัติไว้ในมาตรา 303 กำหนดให้ทุก 5 ปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สามารถประเมินผลการใช้รัฐธรรมนูญ หากเห็นสมควรแก้ไขได้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับกาลสมัย
จากนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ แต่ละคณะ ลุกขึ้นชี้แจงในประเด็นต่างๆ ทั้งสิทธิหน้าที่ ความเป็นพลเมือง ก่อนเปิดให้สมาชิก สปช.อภิปราย
นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช. อภิปรายในบททั่วไปเป็นคนแรก ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แปลก แหวกแนว และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เต็มไปด้วยกลิ่นอายของน้ำพริกปลาทู นำบทเรียนวิกกฤติการการเมืองมาออกแบบใหม่
“การทำงาน 120 วัน พิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่กรรมาธิการยกร่างทรง ไม่มีรัฐธรรมนูญใต้ตึกที่มีคนมามอบให้ ขณะที่ความโปร่งใส เห็นได้จากมีการแถลงข่าวทุกวัน มีการประสานกับสปช. รับฟังความคิดเห็นหลายเวที” นายอลงกรณ์ กล่าว และวิเคราะห์ต่อไปถึงร่างรัฐธรรมนูญนี้จะตอบโจทย์อดีต ปัจจุบัน และอนาคตหรือไม่ รวมถึงประเด็นที่เป็นที่สงสัย ทั้งที่มานายกฯ ที่มาของ ส.ว. บทบาทภาคพลเมือง และการสืบทอดอำนาจ คือประเด็นที่ต้องรับฟังความคิดเห็นทั้งสิ้น
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า ทองแท้ต้องไม่ต้องกลัวการพิสูจน์ ดังนั้นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญ และวันนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อรัฐธรรมนูญมีการบังคับใช้