บทเรียนจาก นศ.ไทยในจอร์แดน...ปฏิรูปประเทศอย่าลืมคนในที่อยู่ข้างนอก
อาจารย์ฟูอ๊าด ไวยวรรณจิตร จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เขียนบทความถ่ายทอดประสบการณ์จากการเดินทางไปเป็นวิทยากรในโครงการ “พัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ของนักศึกษาไทยในจอร์แดน”
มุมมองที่น่าสนใจ คือ การดึงศักยภาพของนักศึกษาไทยในต่างแดน โดยเฉพาะนักศึกษามุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับมา “คิด” พัฒนาบ้านเกิด
“ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” เห็นว่าเป็นบทความที่มีคุณค่า จึงขอนำมาเสนอให้ผู้สนใจได้อ่านกัน
พลังทางปัญญากับการ (คิด) พัฒนา : สมาคมนักศึกษาไทยในจอร์แดน
เที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 3 เมษายน หรือเข้าวันที่ 4 เมษายนไปแล้ว การเดินทางของเราทั้ง 5 คน นำโดย ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรามจิตติ คุณสรรชัย หนองตรุด รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรามจิตติ คุณจีรศักดิ์ อุดหนุน ผู้ประสานงานสถาบันวิจัยรามจิตติ และผม เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งกับภารกิจเพื่อเดินทางไปทำหน้าที่วิทยากรในโครงการ “พัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ของนักศึกษาไทยในจอร์แดน” จัดโดยสมาคมนักศึกษาไทยในจอร์แดน โดยการสนับสนุนจากสถานทูตไทย ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน
ทุกครั้งที่มีโอกาสได้เดินทางมันทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ๆ จากองศาการมองโลกที่กว้างขึ้น ประสบการณ์+ข้อมูล คือสิ่งจำเป็นที่จะเป็นเข็มทิศบอกเราว่า เราควรเดินไปทางไหน หากทว่าสังคมทุกวันนี้มีเรื่องราวอีกมากมายที่รอการพัฒนามากกว่าการปล่อยเวลาไปโดยไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้แก่สังคมเลย
”ผมทวนตอบตัวเองในการทบทวน” ขอบคุณทุกๆ ประสบการณ์ ขอบคุณทุกๆการได้มีโอกาสร่วมทำงาน หากมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุดที่มิใช่เป็นเพียงแค่วาทกรรม คือ “มนุษย์ที่ยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น” ภารกิจครั้งนี้และนับต่อจากนี้ไปเราก็ยังคงตอบโจทย์นี้ของพระเจ้าได้อยู่
ทันทีที่ถึงสนามบิน ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน มีท่านนายกสมาคมนักศึกษาไทยในจอร์แดนและคณะมารอให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี และแล้วภารกิจ ณ ดินแดนแห่งนี้ก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
... สิ่งหนึ่งที่ผุดขึ้นมาหลังการพูดคุยและสัมผัสตลอดจนการจัดกิจกรรมตลอดโครงการที่ผ่านมา (6-9 เมษายน 2558) พบว่า การพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะก่อเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการคิดที่คิดจากจิตอิสระ จิตที่พร้อมจะมุมานะเพื่อสังคม การคิดแค่วันสองวันมิอาจเห็นผลได้ ความต่อเนื่องแม้อาจจะต้องใช้เวลา แต่การนำพาคุ้มค่าเสมอ สิ่งที่ค้นพบเจอะเจอกับการเดินทางในครั้งนี้คือ “พลังทางปัญญา” ที่มีคุณค่ามาก และจะเป็นพลังสำคัญของการกลับมาพัฒนาประเทศ ณ ตำแหน่งแห่งที่ของกว่า 600 ชีวิตในประเทศจอร์แดนที่จากถิ่นฐานบ้านเกิดไปนับแรมปี
หากมองใคร่ครวญทวนทบสังคม ณ ปัจจุบัน สิ่งสร้างสรรค์ที่เป็นพลังกลับกลายถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม ทั้งๆ ที่วิถีคิดเหล่านี้ไม่เคยมองให้รอบ 360 องศาว่า ณ ห้วงเวลาที่ผ่านมาเราเคยเปิดโอกาสให้พลังทางปัญญาสำคัญเหล่านี้ได้มีที่ยืนให้ได้ออกหรือบอกความคิดในการพัฒนาบ้างหรือไม่ แค่จะสดับรับฟังอย่างไม่อคติเคยเกิดขึ้นบ้างไหมตลอดการควานหาแนวทางการปฏิรูป
จริงอยู่ แม้จะมีโมเดลในการพัฒนาเกิดขึ้นมากมายหลากหลายสำนัก แต่การจะปักหลักเลน ณ แห่งหนตำบลใด ใช่ว่าโมเดลหนึ่งจะนำใช้กับการพัฒนาในพื้นที่หนึ่งได้ แม้คำว่า "โมเดล" หลายต่อหลายครั้งอาจฟังแล้วดูเสมือนเป็นปัญหา หากแต่ทว่า "โมเดลการพัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่" ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ของสถานทูตไทย ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน ที่จัดให้นักศึกษาไทย กลับเห็นการพัฒนาพลังทางปัญญาที่พร้อมขับเคลื่อน
สังคมของเขาวันแล้ววันเล่า เฝ้าคอยการกลับไปให้การสานต่อ ณ บ้านเกิดของพวกเขาได้มีที่ยืนอย่างสง่า ดึงความล้ำค่ามากกว่าประสบการณ์ที่ได้จากต่างแดนให้พรั่งพรูออกมาขยับปรับเคลื่อนสังคม การอบรมบ่มเพาะในการสร้างพลังปัญญาชน
ที่นี่คือโมเดลสำคัญที่ทุกฝ่ายควรขานรับมากกว่าผลักดันให้ความคิดของพวกเขากลายเป็นอื่น หรือหมดความชื่นมื่น ถูกกลมกลืนไปตามกาลเวลาทางความคิดเฉกเช่นที่ผ่านมา
ห้วงเวลา ณ เพลานี้ไม่อยากทวงถามว่าใครหรือองค์กรใดจะรองรับพลังทางปัญญาที่พร้อมจะสร้างวิวัฒนาการให้เกิดสังคมานุภาพ (สังคมคุณภาพ) ในสังคมหลังกลับไปยังมาตุภูมิ เพราะสิ่งที่รองรับและทำให้เขาพร้อมปรับตัวกับสังคม พร้อมเผชิญความท้าทาย คือ ตัวตนปัญญาชนคนที่นี่ที่หากไม่ได้มาสัมผัส คุณจะไม่สามารถจัดได้เลยว่าพลังขับเคลื่อนสังคมชุมชนของประเทศ คือ นักศึกษาไทย ณ ประเทศจอร์แดนอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วเราจะปล่อยให้ 600 กว่าชีวิตที่พร้อมจะลิขิต (เขียน) โลกใบนี้อย่างสร้างสรรค์และน่าค้นหาด้วยกับคำว่า "จิตที่พร้อมจะพัฒนา" หลุดขบวนการพัฒนาไปอีกหรือ...
ข้อเสนอที่อยากให้ร่วมกันทบทวนคือการพัฒนาพลังปัญญาชนของประเทศที่อยู่ในประเทศต่างๆ ที่พวกเขาพร้อมจะกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ การมีองค์กรที่คอยเชื่อมร้อยผู้คนเหล่านี้หลังจากกลับมาประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพหลักควรก่อเกิดขึ้นอย่างจริงใจและจริงจัง มากกว่าแค่ปล่อยให้ตัวแทนสมาคมนักศึกษาไทยในประเทศต่างๆ ทำกันไปตามศักยภาพและกำลังความสามารถ
การสร้างและหนุนเสริมโอกาสในการพัฒนาจากภาครัฐและองค์กรเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พร้อมในการสนับสนุนพลังปัญญาชนนักศึกษาไทยในประเทศต่างๆ คือภารกิจสำคัญให้ต้องร่วมกันขบคิดวางแผนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เป็นระบบ จุดบรรจบของความสำเร็จอาจไม่ใช่วันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ก็เชื่อว่าเราจะเห็นการพัฒนาของสังคมไทยในสักวัน หากได้เพียงเริ่มคิดขยับปรับเคลื่อนและทำมันอย่างตั้งใจ
เพราะความจริงเริ่มเกิดขึ้นแล้วอย่างเด่นชัดประจักษ์แจ้งกับโมเดลของสมาคมนักศึกษาไทยในจอร์แดน ผ่านการสนับสนุนของสถานทูตไทย ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน และที่สำคัญมันจะเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามากหากเราเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโจทย์คำพูดของ ดร.อัดนัน ผอ.ศูนย์ภาษาฯ ณ กรุงอัมมาน ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า "ขอให้เราทุกคนเปรียบเสมือนหยาดฝนที่ตกลงที่ใดก็มีแต่ความงอกเงย ฉันใดก็ฉันนั้นมุสลิมเราโดยเฉพาะปัญญาชนไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด ขอให้เป็นผู้ที่ก่อเกิดประโยชน์แก่สังคม"
วันนี้ผมเห็นและสัมผัสมันแล้ว ผมเองก็อยากให้ทุกคนได้สัมผัสพลังทางปัญญากับการ (คิด) พัฒนาสังคมบ้างก็แค่นั้น ในวันที่สังคมกำลังควานหาแนวทางการปฏิรูปที่อาจลืมคนในที่อยู่ข้างนอกไปอีกวง เพราะวงในสุดก็คือบ้านเกิดเมืองนอนของผู้คนเหล่านี้เฉกเช่นเดียวกัน...