เสริมเข้มองค์กรอิสระ สร้างจุดโฟกัส ลดความตึงตัว
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการวิจัยเรื่อง“การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยศึกษาในส่วนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ประเทศไทยได้รับคะแนนจากการจัดทำ “ดัชนีงบประมาณโปร่งใส” (Open Budget Index 2012) เพียง 35 จาก 100 คะแนน ซึ่งสะท้อนว่า ในภาพรวมของความโปร่งใสในกระบวนการกำหนด จัดสรร และตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเรื่องนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ “แย่” อย่างไรก็ดี แม้คะแนนในภาพรวมจะไม่น่าพอใจนัก แต่ประเทศไทยก็ยังทำได้ดีในเรื่องของการมีองค์กรตรวจสอบการใช้งบประมาณ ซึ่งหมายถึง สตง. ที่เข้มแข็ง โดยไทยได้คะแนน 67 จาก 100 คะแนนในส่วนนี้
ความเข้มแข็งดังกล่าวของ สตง. นั้น มาจากความเป็นอิสระภายในองค์กรที่อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ หากยึด “หลักความเป็นอิสระ 8 ประการของ INTOSAI” (International Organization of Supreme Audit Institutions) เป็นเกณฑ์เพื่อประเมิน สตง. ไทย จะพบว่า สตง. มีกฎหมายรับรองความเป็นอิสระ มีคณะผู้บริหาร ซึ่งหมายถึง คตง. และ ผู้ว่าการ สตง. ที่มาจากกระบวนการสรรหาที่โปร่งใส และมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลระหว่างตรวจสอบและกำหนดทิศทางการทำงานของตนเองได้ อย่างไรก็ดี จุดอ่อนของ สตง. ไทยยังคงอยู่ที่ หนึ่ง การเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบประจำปีที่ล่าช้า อันมีสาเหตุมาจากการที่ต้องคอยรัฐสภาและรัฐบาลพิจารณารายงานดังกล่าวก่อน และ สอง ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่จำกัด
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังระบุอีกว่า แม้ สตง.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการตรวจสอบทุจริต แต่ปัจจุบัน มีอำนาจเพียงการปรับโทษทางปกครอง แต่ไม่สามารถดำเนินคดีอาญากับผู้ทุจริตได้ แต่หากมองกว้างๆ ปัญหาขององค์กรอิสระทั่วไปของไทยคล้ายๆกับ สตง.นั่นคือ มีภาระงานค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรและงบประมาณในการดำเนินงานส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน
ทั้งนี้ นักวิจัยทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอแนะสำหรับอำนาจการบริหารงานว่า สตง. อาจจัดจ้างหน่วยงานภายนอก (Outsource) มาร่วมทำหน้าที่ในงานตรวจสอบเฉพาะทาง โดยเฉพาะการประเมินความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ ที่ลักษณะเฉพาะ และ สตง. ควรมีอำนาจยับยั้งการเบิกจ่ายงบประมาณในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับฎระเบียบการจ้างในส่วนของอัตราเงินเดือนของพนักงาน สตง.ควรกำหนดอัตราการจ้างงานที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะให้เข้ามาร่วมงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ในด้านความรับผิดชอบต่อประชาชน โดยเฉพาะการเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ ควรมีการกำหนดให้รัฐสภาและรัฐบาลต้อง รับรองรายงานของ สตง. ภายในกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและไม่นาน เช่น 3 เดือน เพื่อให้ สตง. เปิดเผยรายงานต่อประชาชนได้
ทั้งนี้ สัดส่วนความเสียหายโดยมีสาเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชันที่ สตง.ตรวจพบทั้งหมด ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2553 พบว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรพบการทุจริตมากที่สุดถึง 38% โครงการรับจำนำข้าวเปลือก 25% โครงการกองทุนรวมเพื่อช่วยเกษตรกร 11% และโครงการยิบย่อยอื่นๆรวม 26% ซึ่งความเสียหายในระยะเวลา 5 ปีนั้น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 150,675 ล้านบาท
สำหรับบทสรุปขององค์กรอิสระในด้านโครงสร้างนั้น นักวิจัยทีดีอาร์ไอได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรมีความหลากหลายทั้งในเรื่องกรรมการสรรหา และกรรมการบริหาร ขณะเดียวกันควรมีการกำหนดวงเงินงบประมาณที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจจะพิจารณาจากแหล่งรายได้ต่อหัวประชากรที่แน่นอนในกฎหมายและหน่วยงานราชการที่จัดสรรเงินเพื่อให้ สตง.ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล และที่สำคัญองค์กรเหล่านี้ ไม่ควรมีอุปสรรคในการสร้างความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อประชาชน เช่น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ผลงานและรายละเอียดต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย.