ผู้ตรวจการฯ ค้านควบรวมกสม.ย้ำไม่มีความซ้ำซ้อนในหน้าที่
ผู้ตรวจการแผ่นดินแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้ ไม่มีความซ้ำซ้อนในหน้าที่ หวั่นเสียจังหวะดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน ยันมีปัญหาแน่ถ้ายุบรวม
วันที่ 17 เมษายน 2558 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำโดย ศ.ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืนไม่ควบรวมองค์กรระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชั้น 9 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
ศ.ศรีราชา กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้มีการควบรวม 2 องค์กร ระหว่างผู้ตรวจการฯและกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น ที่ผ่านมาท่าทีของผู้ตรวจการฯ ไม่ได้ออกมาโต้แย้งชัดเจน เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีความชัดเจนในร่างดังกล่าว แต่มาขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการยุบรวม ดังนั้นจึงมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับกสม. คือไม่เห็นด้วยที่จะมีการยุบรวม เพราะจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ยากขึ้น
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่ควรยุบรวมนั้น เนื่องจาก 1. ความมีตัวตนหรืออัตลักษณ์ขององค์กร ซึ่งทำงานแยกกันตั้งแต่ต้น ผู้ตรวจการทำหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน หากถามว่า ทั่วโลก 2 องค์กรนี้ควบรวมหรือไม่ ถ้าจะควบรวม คือต้องรวมตั้งแต่ครั้งแรก และยืนยันว่าหากมายุบรวมตอนนี้เกิดปัญหาในการทำงานแน่นอน เพราะวัฒนธรรมองค์กรการทำงานต่างกัน
“ระยะเวลา 15 ปี ของผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการทำงานมาได้ดีพอสมควร ดังนั้นวันนี้ไม่เห็นควรที่จะต้องมีการยุบรวม แต่ควรเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานทำงานได้เต็มศักยภาพ” ศ.ศรีราชากล่าว และว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่แน่ใจว่าการคิดจะยุบรวมจะเพิ่มศักยภาพหรือลดศักยภาพกันแน่ สิ่งสำคัญจะต้องมองว่าการยุบรวมนั้นประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรและชื่อเสียงของประเทศที่เคยสร้างมาจนได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก 150 ประเทศทั่วโลกรวมถึงในอาเซียนอาจจะหายไปด้วยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าคิดและน่าเสียดาย
ศ.ศรีราชา กล่าวถึงเหตุผลที่ 2 ที่ไม่ควรยุบรวมว่า หลายฝ่ายกล่าวว่าบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ มีความซ้ำซ้อนกับกสม. ซึ่งความจริงแล้วไม่มีส่วนใดที่มีความซ้ำซ้อน มีเพียงส่วนที่เชื่อมโยงความเกี่ยวเนื่องกัน หากจะบอกว่าบทบาทหน้าที่ซ้ำซ้อน แท้จริงแล้วน่าจะซ้ำซ้อนกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มากกว่า แต่เรื่องใดที่คล้ายกันมีความเชื่อมโยงก็คุยกัน ทุกอย่างมีทางแก้ไข แทนที่จะยุบควรจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อมาดูแลประสานงานและเพิ่มบทบาทหน้าที่ขีดเส้นให้ชัดเจนเบ็ดเสร็จมากกว่า
ด้านพลเอกวิทวัส กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการจะควบรวมนั้นมุ่งหวังจะแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของ 2 องค์กร ในเรื่องการร้องเรียน ซึ่งในความเป็นจริงประชาชนร้องเรียนมากกว่า 2องค์กรด้วยซ้ำ เมื่อได้รับเรื่องก็เป็นการพิจารณาว่า เรื่องนี้เหมาะกับหน่วยงานใดและเกิดการส่งต่อ สิ่งสำคัญวันนี้คือประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการควบรวมของ 2องค์กร หากต้องการจะปฏิรูปควรจะเพิ่มอำนาจคุ้มครองชั่วคราว 30 วันและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า
ขณะที่นายรักษเกชา กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธมนุษยชนไม่ใช่ความซ้ำซ้อน แต่เป็นการซ้ำเสริมของการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้นการแก้ไขปัญหาด้วยการควบรวมนั้นไม่ได้เป็นการที่จะช่วงส่งเสริมศักยภาพของการทำงาน แต่การเพิ่มบทบาทหน้าที่ความชัดเจนให้แต่ละองค์กรคือสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากกว่า อีกทั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านจะส่งผลให้การดำเนินการต่างๆเสียจังหวะและขาดความต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กรรมการสิทธิฯ ยื่นหนังสือ 5 องค์กร ยุติควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการฯ
ไพโรจน์ พลเพชร:หยุด! ยุบ กสม.ควบรวมผู้ตรวจการฯ
ไพโรจน์ พลเพชร ตั้งคำถามกมธ.ร่าง รธน. เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์จริงหรือ ?