เจาะชีวิตผู้สูงอายุชายแดนใต้...กินอยู่อย่างไรถึงมีอายุเกินร้อยปี!
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายๆ คนคงคิดว่าสภาพแวดล้อมและความตึงเครียดของพื้นที่สามจังหวัดคงไม่เอื้ออำนวยให้คนทั่วไปมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุขได้
ทว่าในความเป็นจริงแล้ว จากข้อมูลในหนังสือ "ร้อยคนหมื่นปี" ที่จัดทำโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กลับพบว่า ในพื้นที่สามจังหวัดใต้ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นจำนวน 208,647 คน และที่น่าสนใจคือในจำนวนนี้มีถึง 250 คนที่เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี!
วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นเทศกาลสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทยแล้ว รัฐบาลยังประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ด้วย เพื่อให้เยาวชนหรือคนรุ่นหลังตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ
และเนื่องในวันสำคัญของผู้สูงอายุ "ทีมข่าวอิศรา" จึงได้ไปพูดคุยกับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเรียนรู้ว่าแต่ละคนมีเคล็ดลับอย่างไรกับการทำให้ชีวิตยืนยาวเป็นร้อยปี
นายสาและ มะลี อายุ 114 ปี ชาวอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เป็นผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุมากที่สุดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันคุณปู่สาและประกอบอาชีพเป็นชาวสวนยางพารา ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับภรรยาที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์
ปู่สาและ เล่าว่า ปกติเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว เพิ่งจะมาเป็นความดันโลหิตสูงเมื่อไม่นานมานี้ สาเหตุมาจากความเครียดที่ภรรยาล้มป่วย แต่แม้จะมีโรคประจำตัว ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ดูแลตัวเองรวมถึงภรรยาที่เจ็บป่วยด้วย
"การมีสุขภาพแข็งแรงของผม มาจากการที่เป็นคนไม่อยู่นิ่ง ชอบออกกำลังกาย จะเดินออกกำลังกายไป-กลับร้านน้ำชาในหมู่บ้านทุกเช้า รวมไปถึงทำงานบ้านต่างๆด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพคือ ต้องได้รับการรักษาทันทีที่มีอาการเจ็บป่วย ไม่ปล่อยทิ้งไว้"
ปู่สาและ กล่าวอีกว่า ในเรื่องอาหารการกินก็กินอาหารทั่วๆ ไป แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อาหารประเภทผัด ต้ม แกงจืด โดยจะทำอาหารเอง และจะมีผักเป็นส่วนประกอบทุกมื้อ ที่สำคัญคือจะไม่ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง จะดื่มแต่น้ำต้มสุกหรือน้ำอุ่นเท่านั้น
"ส่วนหนึ่งที่ทำให่ผมมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว น่าจะมาจากการที่ได้ออกกำลังกายจากการทำกิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงความรู้ทางสมุนไพร จึงต้มยาสมุนไพรกินเพื่อบำรุงร่างกายและรักษาอาการเจ็บป่วยบางอย่างด้วยตัวเอง"
ขณะที่ นางแดง สีแดง ชาวอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ผู้สูงอายุอีกรายที่แม้ปีนี้อายุ 103 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำไร่ทำสวนได้ อาศัยอยู่บ้านของตนเองเพียงลำพัง โดยมีบ้านของลูกและหลานอยู่ในละแวกใกล้เคียง
คุณย่าแดง เล่าว่า เป็นคนทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่สาวๆ ทั้งทำนา ทำสวน และเลี้ยงวัว ต้องเดินไกลๆ ทุกวัน ตอนนี้แม้ไม่ได้เลี้ยงวัวหรือทำนาแล้ว แต่ก็ยังคงทำสวนมะพร้าว ดูแลสวนมะพร้าวด้วยตัวเอง สามารถทำงานจับจอบขุดดิน ทำสวนปลูกผักได้
"สุขภาพร่างกายของฉันแข็งแรงมาก ไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล แต่ก็มีโรคประจำตัวเหมือนคนแก่ทั่วไปคือ คือ ความดันโลหิตสูง ต้องทานยาอยู่เป็นประจำ ตรวจเช็คสุขภาพทุกๆ 2 เดือน เรื่องอาหารการกินก็ชอบทานผัก และไม่ดื่มน้ำเย็น จะดื่มแต่น้ำร้อนและน้ำต้มสุก"
คุณย่าแดง เล่าต่อว่า เป็นคนอารมณ์ดี สนุกสนานร่าเริง ชอบเข้าสังคม จะไปร่วมงานวัดใกล้บ้านทุกครั้ง เคยเป็นลูกเสือชาวบ้าน และชอบขับร้องมะโย่ง (การแสดงพื้นบ้านของคนไทยมลายู) เป็นคนไทยพุทธที่พูดภาษามลายูได้คล่องแคล่ว จึงมีเพื่อนเป็นมุสลิมเยอะ
"สิ่งที่ทำให้มีสุขภาพแข็งแรงจนถึงทุกวันนี้ น่าจะมาจากการทำงานหนักมาตลอด ทำให้เหมือนได้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และที่สำคัญคือเป็นคนอารมณ์ดีและไม่เครียด"
ผู้สูงอายุที่อยู่มานานเกิน 1 ศตวรรษอีกคน คือ นายต่วนบือซา โตะกูยือแร วัย 104 ปี ชาวอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ประกอบอาชีพทำสวน เป็นเกษตรกร ใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาวัย 70 กว่าปีในบ้านของตนเอง
คุณปู่ต่วนบือซา เล่าว่า ทุกวันนี้แม้สายตาจะฝ้าฟางไปบ้างตามอายุ แต่สุขภาพร่างกายโดยรวมก็ยังแข็งแรงมาก เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ หลายๆ คนในวัยเดียวกัน มีเจ็บป่วยบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่หนักถึงขั้นต้องเข้าไปนอนโรงพยาบาล มีเพียงไปให้หมอตรวจและรับยามาทานก็หาย
นอกจากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่างแล้ว คุณปู่ต่วนบือซายังสามารถดูแลภรรยาที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอกว่าด้วย เพราะปัจจุบันภรรยาลุกนั่งเดินไม่ค่อยสะดวก ต้องใช้ไม้เท้า แต่ตัวคุณปู่เองกลับไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย
"เรื่องอาหารการกิน ผมจะชอบทานปลาต้ม ปลาย่าง ไม่ทานของทอดหรืออาหารที่มีไขมัน ทำอาหารทานเองทุกมื้อ ไม่ซื้ออาหารกิน เพราะไม่ทานอาหารที่ใช้ผงชูรสในการปรุง"
"ปัจจัยที่มีส่วนทำให้ผมมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนมาจนถึงทุกวันนี้ น่าจะมาจากการเป็นคนทำงานหนัก และไม่ชอบอยู่นิ่ง ประกอบกับการกินอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญการดื่มน้ำชาและน้ำต้มสุก ไม่ดื่มน้ำเย็น น้ำแข็ง"
จากเคล็ดลับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปีทั้ง 3 คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมสะท้อนได้ดีว่าสถานการณ์ความไม่สงบและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการมีอายุยืนยาว เพียงแต่ต้องดูแลตัวเอง...
ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพใจ!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บีรรยายภาพ : (จากซ้าย) นายสาและ มะลี, นางแดง สีแดง และ นายต่วนบือซา โตะกูยือแร