ดร.สมชัย หวั่นแบกภาระหนักอึ้ง ดูแลผู้สูงอายุ จี้รัฐเร่งปรับโครงสร้างภาษี
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ระบบบำนาญของไทยอยู่กระจัดกระจายไม่เป็นระบบเดียวกัน สิ้นเปลืองงบฯ แนะปรับโครงสร้างภาษีดึงรายได้เข้ารัฐ คู่กับส่งเสริมการก่อนตั้งแต่วัยทำงาน ย้ำชัดหยุดคาดหวังพึ่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีสังคมสูงวัยไปด้วยกันด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ จัดโดยตัวแทนเครือข่ายประชาชนร่วมขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ 5 เครือข่ายถึงบำนาญพื้นฐาน สวัสดิการผู้สูงวัยที่สังคมไทยทำได้ ว่า หากประเทศไทยวางระบบไว้ไม่ดี สุดท้ายใช้เงินภาษีเป็นหลักในการดูแลผู้สูงอายุปัจจุบันและในอนาคต ภาระในส่วนนี้จะหนักมาก
ดร.สมชัย กล่าวถึงงบประมาณที่รัฐใช้ไปกับ "เบี้ยยังชีพ" ผู้สูงอายุปัจจุบันเกินแสนล้านบาทแล้ว ยิ่งหากมีการขยับตัวเลขเบี้ยยังชีพให้สูงขึ้นไปอีก จะกลายเป็นเรื่องใหญ่
“ผมคิดว่า ภายใต้ระบบโครงสร้างภาษีปัจจุบัน หากนโยบายการดูแลผู้สูงอายุใช้เงินจากภาษีอย่างเดียว น่าจะเจอแรงต่อต้านเยอะพอสมควร เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินในหลายๆ เรื่อง ทั้งนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟทางคู่ ท่าเรือ ฯลฯ ตัวนี้บอกว่า เงินงบประมาณไม่พอใช้ รัฐบาลที่ผ่านมาต้องใช้วิธีการกู้เงินมาพัฒนาประเทศ ฉะนั้น จำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้รัฐบาลหารายได้ได้เพิ่มขึ้น”
ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวเพิ่มเติมถึงการปรับโครงสร้างภาษี ตัวที่สามารถปรับได้มากสุด คือ 1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เก็บอย่างทั่วถึงมากขึ้น
“ทุกวันนี้ภาษีตัวนี้ “แหว่ง” มีคนไทยไม่น้อยมีความสามารถจ่ายภาษีได้ แต่ไม่จ่าย เลี่ยงภาษี เศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งหากเก็บได้อย่างทั่วถึง ภาษีเงินได้รัฐบาลจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท”
ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า 2.การเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำไรจากการซื้อขายหุ้น เพชร ทอง แต่น่าเสียดายภาษีที่ดินฯ ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูสู่การเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกของประเทศไทย ถูกชะลอไปแล้ว แม้แต่ภาษีมรดก ก็เก็บรายได้ได้น้อยกว่าภาษีที่ดินฯ
“ภาษีอีกตัวที่จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น คือ 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีความเท่าเทียมกัน เลี่ยงภาษีได้ยาก รัฐบาลสามารถขึ้นภาษีตรงนี้ได้ แต่ต้องบอกให้ชัดว่า นำเงินที่ได้ไปทำอะไร”
ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลปรับโครงสร้างการเก็บภาษี 2-3 ตัวที่กล่าวมานั้นจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำ 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งอาจนำเงินมาใช้เรื่องระบบบำนาญพื้นฐาน แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการออมภาคประชาชน ตั้งแต่เริ่มวัยทำงาน และมีการออมภาคบังคับด้วย
สำหรับคนอายุ 40-50 ปี มีเวลาออมไม่มากนั้น ดร.สมชัย มีข้อเสนอให้ลูกหลานออมเงินให้พ่อแม่ ซึ่งอาจมีสภาพบังคับให้ลูกหลานจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน หรือประกันสังคม ที่มีขั้นสูงสุดเงินเดือน 15,000 บาท จ่ายไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ตรงนี้ควรตัดออกไป เพื่อส่งเสริมการออมให้มากขึ้น
ดร.สมชัย กล่าวถึงระบบบำนาญของไทยที่อยู่กระจัดกระจายไม่เป็นระบบเดียวกันด้วยว่า นอกจากทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลแล้ว ในแง่ของเงินที่จะมาใช้กับระบบบำนาญพื้นฐาน คนไทยก็ไม่ควรคาดว่าจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนดีที่สุด
“เรามีนโยบายดูแลผู้สูงอายุ แต่ผมอยากให้เราหันไปมองเด็กด้วย เนื่องจากเด็กเป็นอนาคตของประเทศ และเลี้ยงผู้สูงอายุ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลให้สวัสดิการสำหรับเด็กน้อยมาก เราจะเห็นภาพเด็กที่เป็นลูกหลานคนจน แรงงานนอกระบบ สุดท้ายโตไปไม่มีอนาคต ไม่มีการศึกษา เมื่ออัตราการเกิดน้อยลง เด็กมีจำนวนน้อยลง เราจึงต้องแน่ใจว่า เด็กที่โตไป ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ชั้นดี”