สนทนาปัญหา“การบริหารเงินวัด”ต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้
“...สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรพัฒนาฐานระบบข้อมูลที่จะสะท้อนถึงข้อมูลการเงินของวัดให้สาธารณะรับทราบ เปิดเผยได้ ซึ่งจะช่วยเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ ”
ในห้วงที่สังคมไทยลุกขึ้นมาตรวจสอบความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับปัญหาการเงินวัด จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปฏิรูปวงการพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง
สำนักข่าวอิศรา สนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สม คณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) นักวิชาการเจ้าของงานศึกษา “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการบริหารเงินวัดไทยในหลายประเด็นที่น่าสนใจ
...........
@ อะไรที่ทำให้อาจารย์สนใจศึกษาเรื่องการบริหารการเงินวัด
แรกเริ่มเราอยากดูข้อมูลขององค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งส่วนมาก 60% เป็นองค์กรทางศาสนา เวลาพูดถึงองค์กรศาสนาก็หมายถึงวัด ซึ่งในทางกฎหมายวัดคือนิติบุคคลที่เป็นองค์กรไม่แสวหากำไรประเภทหนึ่งและระดมเงินทุนจากการบริจาค
ก่อนหน้านั้นมีงานจากสภาพัฒน์ฯทำเรื่องบัญชีรายได้ประชาชาติเกี่ยวกับข้อมูลขององค์กรไม่แสวงหากำไร แล้วสะท้อนออกมาว่ามูลค่าในประเทศไทยค่อนข้างจะน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คือร้อยละ0.8 ของจีดีพี
ในขณะที่บางประเทศสูงถึง 7-8% พอเห็นอย่างนั้นก็ลงไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะองค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศเราก็เยอะ มีทั้งมูลนิธิ สมาคมรูปแบบต่างๆ และองค์กรทางศาสนาซึ่งครอบคลุมทุกศาสนาไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธ
แต่เผอิญวัดมีจำนวน 37,000 วัด ณ เวลาที่ราศึกษา จึงมาดูว่าทำไมข้อมูลทางการของวัดถึงไม่สะท้อน ทั้งที่รู้สึกว่าจริงๆแล้วมันมีกระแสเงินหมุนเวียนอยู่ในวัดพอสมควร จึงไปหาข้อมูลทุติยภูมิก่อนจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
@ ได้ข้อมูลสะท้อนสมมุติฐานของอาจารย์ไหม
พบว่า ไม่มีข้อมูลรายรับรายจ่ายหรือบัญชีของวัดที่เก็บไว้เป็นภาพรวมอยู่ตรงไหน ที่เคยตั้งประเด็นคำถามว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในวัดมีมากน้อยแค่ไหนก็ไม่ได้คำตอบ หลังจากนั้นจึงลองศึกษาว่า การบริหารเงินของวัดเป็นอย่างไร โดยใช้หลักธรรมาภิบาลมาจับ
@ ทำไมถึงใช้กรอบหรือหลักของธรรมาภิบาล
เพราะว่าหลักธรรมาภิบาลเป็นหลักการบริหารจัดการที่ดีที่ใช้ในองค์กรที่แสวงหากำไรหรือไม่ก็ตาม เพราะหากมองความเป็นองค์กรมันเกี่ยวข้องกับ stakeholder ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งสำหรับวัด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญคือ พุทธศาสนิกชน ผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคเงินให้วัด
ก็ไปดูว่าวัดบริหารจัดการอย่างไร พบว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นกฎหมายตัวใหญ่ที่สุด แล้วก็มีการปรับปรุงปี 2535 มีการกำหนดโครงสร้างในการบริหารกิจการของวัดและโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์เอาไว้
ทั้งนี้ ตามกฎหมายเจ้าอาวาสมีอำนาจได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยต่างๆภายในวัด แต่ความที่เจ้าอาวาสเป็นพระภิกษุ ท่านก็อาจจะมีข้อจำกัดในการทำกิจการต่างๆไม่ได้ทุกเรื่อง ก็สามารถที่จะมีผู้ช่วยคือ ไวยาวัจกร ซึ่งไวยาวัจกรคือฆราวาสนี่แหละ
ท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้คัดเลือกแล้วเสนอชื่อแต่งตั้งไปตามลำดับชั้น ฉะนั้น เจ้าอาวาสจะเป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือก กฎหมายไม่ได้ระบุว่าจะต้องหารือใครหรือปรึกษาใคร เช่นเดียวกับความรับผิดรับชอบของการบริหารกิจการต่างๆภายในวัดก็อยู่ที่ท่านเจ้าอาวาส และมีไวยาวัจกรมาช่วย
คำถามต่อมาก็คือ มีกระบวนการในการตรวจสอบไหม เช่น ข้อมูลทางการเงินต่างๆของวัดหรือรายการทรัพย์สินภายในวัดพบว่า ในกฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจน แม้จะมีกฎกระทรวงให้เจ้าอาวาสมอบหมายให้ไวยาวัจกรเป็นผู้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เรียบร้อยแล้วส่งให้เจ้าอาวาสตรวจ กฎหมายเขียนไว้แค่นี้
ตรงนี้เป็นประเด็นว่า การกำกับดูแลในเรื่องของโครงสร้างการบริหารเงิน โดยอำนาจก็อยู่ที่เจ้าอาวาส แล้วก็อาจจะมีไวยาวัจกรซึ่งก็อาจจะอยู่ในรูปของกรรมการวัด ก็เป็นไปได้ แต่กรรมการวัดเองก็ไม่ได้มีการเขียนไว้ในกฎหมายตรงไหนเลยว่า กรรมการวัดคือใคร
ถัดมาคือเรื่องบัญชี ไวยาวัจกรเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ แต่คำถามคือ บัญชีเหล่านั้นคือบัญชีอะไร จากการศึกษาพบว่า วัดส่วนมากที่ตอบแบบสอบถามเรา 490 วัด ทั่วประเทศ ระบุว่ามีการทำ แต่คนที่ได้รับมอบหมายคือไวยาวัจกรหรือพระภิกษุที่เจ้าอาวาสมอบหมาย แต่ก็ไม่ได้ส่งต่อไปให้กับสำนักงานพระพุทธฯจัดเก็บ
เมื่อเช็คไปทางสำนักงานพระพุทธฯ เขาบอกว่าก็อยากได้ข้อมูลการเงินเหล่านั้นของวัด ฉะนั้นการตรวจสอบจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเกิดกรณีร้องเรียนเหตุหรือเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความผิดปกติ ในการบริหารกิจการของวัดนั้นๆ ก็จะมีการกระบวนการตรวจสอบทางสงฆ์เข้าไป
กรณีร้องเรียนจะเกิดขึ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับชุมชนและสังคมที่จะร้องหรือเกิดความขัดแย้งภายในวัด ฉะนั้นตรงนี้เป็นประเด็นเหมือนกันว่ากระบวนการตรวจสอบไม่มีกระบวนการที่ถูกระบุเอาไว้เป็นระบบหรือเป็นกลไกชัดเจนว่าจะตรวจสอบอย่าง
@ จึงเกิดเป็นประเด็นเรื่องความโปร่งใสมาโดยตลอดอย่างนั้นหรือเปล่า
ประเด็นเรื่องความโปร่งใส งานศึกษาของเราบอกชัดว่า โดยส่วนมากแล้วจะเผยแพร่กันภายในที่สาธารณะในวัดหรือในที่ชุมชนหรือสังคมอาจจะเข้าถึงหรือเปล่าไม่รู้ ก็คือการติดประกาศเป็นหลักกับการประกาศเสียงตามสาย
มีการเผยแพร่อยู่บนเว็บไซด์น้อยมากประมาณ 3% จาก 490 แห่งที่ศึกษา แต่การเผยแพร่ ไม่ได้เผยแพร่ตัวบัญชีรายรับรายจ่ายแต่เป็นเสียงตามสาย ตามงานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า ก็จะติดป้ายประกาศไว้ วัดส่วนมากจะทำเช่นนั้น
ก็สะท้อนว่า การที่จะเข้าถึงการเงินของวัดอาจจะมีข้อจำกัด แล้วสาธารณะโดยทั่วไปจะเข้าไปดูก็คงลำบาก ดังนั้นข้อมูลการเงินของวัดน่าจะมีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ
อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องการมีส่วนร่วม อย่างที่เรียนไปคือ กฏหมายไม่ได้กำหนดว่าไวยาวัจกรหรือกรรมการจะต้องเป็นบุคคลในชุมชนหรือสังคมโดยเฉพาะ ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสว่าท่านจะเลือกใคร ซึ่งจริงๆกรรมการวัดควรจะมีที่ไปอย่างไร
อาจจะเป็นข้าราชการในพื้นที่ หรือครูในพื้นที่ที่มีความรู้ความสามารถ ถ้าดึงเขาเข้ามาช่วยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ กับการพัฒนาวัด แต่จากากรศึกษาพบว่า การมีส่วนร่วมขึ้นอยู่กับประสงค์ของเจ้าอาวาสว่าท่านจะเปิดให้เข้ามาหรือไม่
ในอนาคตเรามองว่า การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าวัดเป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับประชาชนและสังคมทั่วไป แล้วมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือประชาชนเป็นหลัก จริงๆก็ต้องดึงคนเหล่านั้นเข้ามาให้ได้มากขึ้น
@ ผลศึกษาของอาจารย์พบว่า มีจุดอ่อนเรื่องการบริหารเงินวัดหลายจุด แล้วมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขอย่างไรบ้าง
เราอยากเห็นข้อมูลภาพรวม สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรพัฒนาฐานระบบข้อมูลที่จะสะท้อนถึงข้อมูลการเงินของวัดให้สาธารณะรับทราบ เปิดเผยได้ ซึ่งจะช่วยเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ และทำให้คนไม่ตั้งข้อกังขา ลดความเสี่ยงต่อการมีอะไรที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในการบริหารกิจการของวัด
สมัยก่อนคนไทยนิยมบริจาคโดยการเข้าไปทำงานให้วัด แต่สมัยนี้คนนิยมการบริจาคโดยให้เงิน แล้วก็จบกัน แต่ต่อไปคงจะต้องช่วยกันรณรงค์ให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจว่า จริงๆแล้วบทบาทการทำนุบำรุงศาสนา การดูแลวัด ไม่ใช่เรื่องของสงฆ์อย่างเดียว
แต่เป็นเรื่องของอุบาสก อุบาสิกาที่จะเข้าไปช่วย ฉะนั้นการบริจาคด้วยเงินอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการเท่านั้น แต่การเป็นจิตอาสาที่จะเข้าไปช่วยงานวัดก็เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะตัวอย่างที่เราศึกษาหลายวัดพบว่า กรรมการวัดที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ วัดจะมีการบริหารจัดการที่ดีมาก และเติบโตอย่างดี มีข้อมูลทางการเงินสะท้อนความโปร่งใส และตรวจสอบได้
@ อาจารย์เห็นอย่างไรกับเสียงสะท้อนเรื่องการปฏิรูปวงการศาสนา
การที่จะปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับกิจการของวัด ควรจะเป็นการหารือพูดคุยกันในกลุ่มของการปกครองของคณะสงฆ์ เพราะจริงๆแล้ว เรื่องของสงฆ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลก็เป็นเรื่องที่สงฆ์ต้องชำระกันเอง
คำถามก็คือว่า ในปัจจุบันพอมีเหตุการณ์อะไรมากมายเกิดขึ้น ทางฝั่งฆราวาสเองก็พยายามจะยกประเด็นเรื่องการปฏิรูปหรือการที่จะปรับเปลี่ยน
แต่ส่วนตัวคิดว่าสิ่งเหล่านี้เราคิดได้ เสนอข้อมูลได้ แต่กระบวนการทั้งหมดควรจะทำโดยหารือและร่วมมือกับทางคณะสงฆ์ เพราะการที่เราจะเข้าไปปรับเปลี่ยนอะไร จะต้องเข้าไปศึกษาให้ลึกค่อนข้างมาก
พระสงฆ์โดยพระธรรมวินัยแล้ว ท่านอาจจะไม่สามารถจับเงินได้ ผู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนาหลายคนก่อนหน้านี้ก็ยืนยันว่า พระธรรมวินัยบอกชัดว่าจับเงินไม่ได้
แต่เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้คนบริจาคปัจจัย พระสงฆ์ก็ต้องมีปัจจัยไว้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่าน
ตรงนี้ต้องชัดเจนว่าจับเงิน จับแค่ไหน แล้วสั่งสมทรัพย์สินได้หรือไม่ เงินพระ เงินวัด แยกกันได้มั๊ย วันนี้มันเกิดภาพเบลอในลักษณะที่ว่า เวลาผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินให้กับวัดเขาบริจาคให้ภิกษุหรือบริจาคให้วัด ตีความกันอย่างไร แล้วบริจาคให้พระสงฆ์ได้มั๊ย นี่คือสิ่งที่ต้องชัดเจน
พุทธศาสนิกชนเองเข้าใจหรือไม่ว่าทำได้หรือเปล่า เพราะเท่าที่ทราบจากการศึกษาอีกงานหนึ่งเราพบว่า บางคนเขามีจิตศรัทธาบริจาคที่พระสงฆ์ไม่ใช่วัด ฉะนั้นเขาสามารถทำเช่นนั้นได้ ถ้าทำเช่นนั้นก็หมายความว่าพระสงฆ์เองก็สั่งสมทรัพย์สินได้สิ
หรือหากพระสงฆ์ท่านลาสิกขาบทไป ทรัพย์สินของท่านเป็นของท่านหรือเป็นของวัด ประเด็นพวกนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งจริงๆ ความชัดเจนตรงนี้มันยังหาคนที่จะมาทำให้สังคมชัดเจนไม่ได้ ที่เราพยายามเสนอก็คือ พุทธศาสนิกชนเองถ้าเป็นไปได้ระบุให้ชัดว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาวัด แล้วเวลาบริจาคก็ให้วัดออกใบอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นหลักฐานในการลงบัญชี
ถามว่าทำแล้วได้อะไร ก็เพื่อลดวามเสี่ยง ลดข้อครหา ลดความกังขา และทำให้เกิดความศรัทธา ถ้าทำให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ก็น่าจะลดความเสี่ยง และเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความยั่งยืนกับตัววัดได้
@ งานศึกษาของอาจารย์ได้ลงไปตรวจสอบวัดชื่อดังที่เป็นข่าวอื้อฉาวอยู่ในช่วงเวลานี้ด้วยหรือเปล่า
ไม่ค่ะ เข้าไม่ได้ ก็พยายามอยู่เหมือนกัน แต่จริงๆงานศึกษาของเราดูที่ระบบดีกว่า เพราะถ้าระบบเหมือนกันก็เห็นเหมือนกัน แต่บังเอิญว่าวันนี้ระบบเปิดช่องไว้เยอะ พอเปิดเยอะก็มีความเสี่ยงที่ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง
ถามว่าเราจะมีระบบไปเพื่ออะไร ก็เพื่อเราอยากจะดูว่าการดำเนินงานของเขาอยู่ในกรอบที่เราอยากเห็นหรือเปล่า แต่ในกรอบที่ระบบเปิดขนาดนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละวัดที่จะจัดการ
@ มีข้อเสนอแนะเชิงในเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมยั่งยืนไหม
วัดมีความสำคัญมากต่อชุมชนและสังคม เป็นที่ยึดเหนี่ยว เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสร้างความเชื่อมั่น สร้างความโปร่งใส และใส่กลไกในการตรวจสอบเข้าไปให้ประชาชนซึ่งปัจจุบันอาจจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น ตั้งคำถามได้เยอะขึ้น ก็จะเกิดความกระจ่าง
ความกระจ่างในที่นี้ มีทั้งในเรื่องของสิ่งที่ควรทำ ควรบริจาคอย่างไร เหมือนสมัยหนึ่งที่เราขอใบกำกับภาษี บริจาคให้วัดก็ควรจะร้องขอใบอนุโมทนา บริจาคให้พระสงฆ์ทำได้มั๊ย ควรจะสร้างความชัดเจนในสิ่งเหล่านี้
ถามว่าใครควรจะเป็นคนทำ ก็คิดว่าสำนักงานพระพุทธฯ ในฐานะเป็นเลขามหาเถรสมาคมควรจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เป็นคนไปกำกับในลักษณะของการบังคับใช้ แต่เป็นการให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะ และผลักดันให้คณะสงฆ์ด้วยกันเองได้มาพูดคุยเรื่องเหล่านี้
อยู่ดีๆ ฆราวาสจะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าจะปฏิรูปศาสนา คงไม่ใช่ แต่น่าจะต้องมีข้อมูลสะท้อนออกไปว่าสังคมต้องการอะไร อยากเห็นอะไร แล้วการปรับเปลี่ยนทั้งหมดควรจะต้องไปดูว่าในเชิงพระธรรมวินัยว่าทำอะไรได้บ้าง และสร้างความชัดเจนให้สังคมได้รับรู้ด้วย
อย่างที่บอกหลายเรื่องก็เบลอๆไป ดังนั้นสำนักงานพระพุทธฯเองก็ควรจะต้องมีบทบาทในสิ่งเหล่านี้ รวมถึงข้อมูลในการเงิน ถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้มีการรวบรวมเอาไว้อย่างเป็นระบบเพื่อที่จะให้สาธารณะชนได้เห็น เพื่อจะได้ช่วยกันดู นักวิชาการเองก็จะได้มีข้อมูลในการศึกษาเชิงลึกมากขึ้น
ถ้าเป็นไปได้ ต้องหากลไกในการที่จะทำให้การกระจายตัวของรายได้จากเงินบริจาคส่งต่อไปยังวัดที่เขามีความสามารถในการระดมทุนเงินบริจาคได้น้อยให้ได้ด้วย วัดใหญ่จะอุปถัมภ์วัดเล็กได้อย่างไรบ้าง
คือแทนที่จะกระจุกตัวอยู่กับวัดใหญ่ๆซึ่งมีผู้นิยมไปบริจาค อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริจาคที่ต้องนึกถึงวัดที่ขาดแคลนด้วย ยังไม่นับรวมการบริจาคที่ไม่ใช่ให้วัด เช่น หน่วยงานที่มีความต้องการเงินบริจาค มูลนิธิต่างๆ อาทิ มูลนิธิช่วยเหลือเด็กยากจน หรือสถาบันการศึกษา ที่เป็นช่องทางการบริจาคได้
แต่ปัจจุบันคนก็ยังไม่นิยมบริจาคให้กับสิ่งเหล่านี้มากเท่ากับไปบริจาคให้กับพระและวัด อาจจะเป็นเรื่องของความเชื่อและความศรัทธา
เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเรื่องที่สังคมเองต้องช่วยกัน คงจะต้องไปคุยลึกๆว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องการบริจาคหรือไม่ บริจาคอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียม หรือมีความหลากหลายไปสู่องค์กรอื่นๆด้วย
@ เป็นโจทย์เรื่องความเชื่อหรือศรัทธาของคนกับการบริจาคไปเลย
ความเชื่อของคนต่อการบริจาคให้วัดกับความเชื่อต่อการบริจาคให้องค์กรอื่นๆที่ไม่ใช่วัด ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่น่าสนใจว่ามันต่างกัน หรือภาวะทางเศรษฐกิจจะมีผลต่อเงินบริจาคของแต่ละองค์กรอย่างไร
ส่วนตัวคิดว่าเงินบริจาคให้วัดอาจไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเท่าไหร่ เพราะคนก็ยังมีความเชื่อว่าการสั่งสมบุญ การให้ทาน บริจาคให้กับวัดเป็นเรื่องของการซื้อโอกาสในอนาคต เป็นเรื่องของการสะเดาะเคราะห์
เขาอาจจะรู้สึกว่าทำบุญตรงนี้แล้วได้คาดหวังสิ่งดีดีในอนาคต ซึ่งแตกต่างจากการบริจาคให้องค์กรการกุศลอื่นๆ
ขอบคุณภาพบริจาคเงินวัดจาก
chystery.wordpress.com,
http://www.kanlayanatam.com