กฤษฎีกาชี้ กฟผ.ไร้อำนาจเดินสายใยเเก้วนำเเสงออกนอกโรงไฟฟ้าเชื่อมต่อผู้ใช้บริการ
กฤษฎีกาชี้ กฟผ.ไร้อำนาจดำเนินการเดินสายเส้นใยแก้วนำแสง เหตุเกิดประโยชน์ด้านโทรคมนาคมฝ่ายเดียว ขัด ม. 6 (2 ทวิ) ระบุจะต้องเกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) ได้พิจารณาข้อหารือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีผู้แทนกระทรวงพลังงาน (สำนักงานปลัดกระทรวง) ผู้แทน กฟผ. และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายหลังมีหนังสือ ที่ กฟผ. 972303/77278 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557
กรณีการเดินสายเส้นใยแก้วนำแสงออกนอกสถานีไฟฟ้าแรงสูงหรือโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อไปเชื่อมต่อกับระบบเส้นใยแก้วนำแสงของผู้ใช้บริการ ณ อาคาร สำนักงาน หรือสถานที่ของผู้ใช้บริการของ กฟผ. นั้น ยังถือว่าเป็นการนำทรัพย์สินที่มีเหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 (1) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และตามนัยของบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 340/2549 หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ลงความเห็นว่า “กฟผ.ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการเดินสายเส้นใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมต่อกับระบบเส้นใยแก้วนำแสงของผู้ใช้บริการตามที่ กฟผ.ขอหารือ”
เนื่องจากเห็นว่า กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงพลังงานจัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ การดำเนินการใด ๆ ของ กฟผ.จึงต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ เท่านั้น
กรณีที่ กฟผ.ได้นำเส้นใยแก้วนำแสงที่บรรจุอยู่ในสายดินของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงที่เหลือจากการใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานของ กฟผ. อันเป็นกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์ของตนมาให้บุคคลภายนอกเช่าใช้ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเรื่องเสร็จที่ 340/2549 ที่ กฟผ.อ้างถึงนั้น เป็นกรณีที่ กฟผ.นำทรัพย์สินที่เหลือจากการดำเนินการในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 มาให้บุคคลภายนอกเช่าใช้ เพื่อทรัพยากรของ กฟผ.ที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่กระทบต่อการให้บริการด้านไฟฟ้าของ กฟผ.
คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเห็นว่า เป็นกรณีที่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 9 (1) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ ที่บัญญัติให้ กฟผ. มีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 โดยอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการให้เช่าและดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องใช้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของ กฟผ.ด้วย
แต่กรณีข้อหารือของ กฟผ. ในเรื่องนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา กลับเห็นว่า มีข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากกรณีตามเรื่องเสร็จที่ 340/2549 เนื่องจากในเรื่องนี้ กฟผ.จะดำเนินการเดินสายเส้นใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมต่อระบบเส้นใยแก้วนำแสงที่มีอยู่เข้ากับระบบของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ในด้านการให้บริการโทรคมนาคม อันมิใช่การดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ.ตามที่มาตรา 6 (2 ทวิ) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ กำหนดวัตถุประสงค์ไว้
“ประเด็นปัญหาทำนองเดียวกันนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) เคยวินิฉัยไว้แล้วในกรณีของการไฟฟ้านครหลวงในเรื่องเสร็จที่ 696/2553”
ท้ายที่สุด มีข้อสรุปว่า การที่ กฟผ.จะดำเนินการเดินสายเส้นใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมต่อกับระบบเส้นใยแก้วนำแสงของผู้ใช้บริการ แม้ว่าจะเป็นการดำเนินการที่มิได้มีผลทำให้เอกชนเสียสิทธิเพิ่มขึ้นจากการใช้ที่ดินที่ กฟผ. ใช้สำหรับก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าก็ตาม แต่โดยที่การเดินสายเส้นใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมต่อระบบนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านการโทรคมนาคมแต่ประการเดียว
กรณีจึงไม่อาจถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการด้านพลังงานไฟฟ้า อันเป็นกิจการหลักของ กฟผ. ตามมาตรา 6 (2 ทวิ) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ .
อ่านฉบับเต็ม :อำนาจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในการให้เช่าเส้นใยเเก้วนำเเสง