ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา :ยาก...เวลาพูดถึงนโยบายผู้สูงอายุลำบากตรงที่ว่า พูดถึงใคร
"จริงๆ รัฐบาลใช้เงินกับเด็ก และสวัสดิการคนทำงานน้อยไป หากเทียบดูระหว่างกลุ่ม พบใช้เงินไปกับกลุ่มผู้สูงอายุเยอะมาก จริงอยู่เรื่องปัญหาผู้สูงอายุสำคัญ กำลังแรงงานลดสำคัญ แต่เรื่องสวัสดิการ ควรมองแบบให้ความช่วยเหลือ “ครอบครัว”"
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี2543 แล้ว เห็นได้ชัดเรามีกำลังวัยแรงงานน้อยลง แถมวัยแรงงานยังต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อยลง คนพร้อมไม่ท้อง คนท้องไม่พร้อมจะมีบุตร จนวันนี้ “สังคมสูงวัย สังคมผู้สูงอายุ” กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา พาไปพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวมหมวกอีกใบ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้เห็นมุมมองเมื่อเวลาเราพูดถึงสังคมผู้สูงอายุว่า อย่างมองเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ เป็นแค่เรื่องผู้สูงอายุ เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่ให้มองเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม
“การที่ผู้สูงอายุมีเยอะขึ้น อายุยืนขึ้น มีผลกระทบต่อคนวัยทำงาน ในการที่เราจะเตรียมความพร้อมหรือแก้ไขปัญหา หรือมีมาตรการอะไรออกมารองรับสังคมผู้สูงอายุ ฝ่ายนโยบายอาจต้องมองภาพรวมให้เห็นด้วย เช่น กลุ่มคนรอบข้าง ครอบครัว หรือภาพรวมของประเทศจะเป็นอย่างไร”
เริ่มแรก รศ.ดร.วรเวศม์ มองเห็นว่า ผู้สูงอายุยุคถัดไปจากนี้ ภาพจะเปลี่ยนไปอีกแบบ ผู้สูงอายุจะมีการศึกษาสูงขึ้น พอมีเงินออม มีเงินเก็บ แม้อาจไม่ถึงกับร่ำรวยก็ตาม รวมถึงจะเป็นผู้สูงอายุตัวคนเดียว ไม่มีลูก หรือมีคู่สมรสที่ไม่มีลูก บ้างก็มีลูกน้อย ขณะเดียวกันสุขภาพดีขึ้น ฉะนั้น ภาพผู้สูงอายุที่เห็นในวงเวียนชีวิต หรือร้องขออย่างเดียวจะเริ่มเปลี่ยนไป
เรียกว่า ผู้สูงอายุรุ่นถัดไปจะเป็นผู้สูงอายุที่พอมีเงินบ้าง ก่อนที่จะแก่ คือ ยังพอเตรียมตัวกันทัน
เริ่มแรก รศ.ดร.วรเวศม์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ผู้สูงอายุสำรอง หรือรุ่นต่อไปนั้น ยังมีกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) มีเบี้ยยังชีพ มีประกันสังคม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงพอช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง ฉะนั้นเวลารัฐมีนโยบายผู้สูงอายุ จึงต้องมองไปข้างหน้าด้วย เพราะภาพผู้สูงอายุนั้นเปลี่ยนไปเร็วมาก
ในอนาคตเราต้องพูดถึงแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ด้วย ทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“การที่ทุกคนพูดถึงแต่ระบบบำนาญอย่างเดียว แต่รัฐบาลก็การันตีให้ไม่หมดว่า ให้พอยังชีพ ฉะนั้น ต้องมองว่า คนๆ หนึ่งมีศักยภาพทำได้หลายอย่าง สามารถทำงานได้ ด้วยการมีระบบสนับสนุนให้คนทำงานได้ยาวขึ้น
ตอนนี้ประเด็น คนอายุ 50 ปีขึ้นไป มีตัวเลข “ออกจากงาน” ก่อนวัยอันสมควร ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น เจ้านายให้ออก สุขภาพไม่ดี ออกโดยสมัครใจ ทำอย่างไรให้เขาทำงานอยู่ที่เดิม ต่อไปยาวๆ ทำอย่างไรให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น
แม้ความเป็นจริง คนกลุ่มนี้มีสมรรถภาพการทำงานด้อยลง แต่เราสามารถจ้างงานให้เขาทำงานบางอย่างได้หรือไม่ จ้างทำงานต่อในที่เดิม บริษัทที่กำหนดอายุเกษียณ ภาคเอกชนไม่มีกฎบังคับจะขยายอายุการทำงานออกไปได้หรือไม่ ส่วนภาคราชการอาจต้องพูดถึงการขยายอายุเกษียณ หากราชการเริ่มต้นทำ เชื่อว่าเอกชนจะทำตาม”
รศ.ดร.วรเวศม์ ชี้ชัดว่า การที่คนไทยอายุ 50 ปีขึ้นไป ออกจากงานก่อนวัยอันสมควร ไม่ได้ทำงานเลย ในฐานะนักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ เขาเห็นตัวเลขก็ช็อคเหมือนกัน ก่อนตั้งสมมติฐาน บ้างอาจอยากออกมาดูแลพ่อแม่ บ้างเป็นประเภททำงานในอุตสาหกรรมหนักมาอย่างยาวนานจนมีปัญหาสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ไม่มีแรงจูงใจให้ทำงาน
แล้วทำไมเราถึงต้องสนับสนุนส่งเสริมให้คนทำงานต่อไปยาวขึ้น ?
นักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ วาดภาพอนาคตให้ดูว่า คนไทยอายุยืนขึ้น หากมีอายุถึง 60 ปีแล้ว เปอร์เซ็นต์จะอยู่ต่อไปจนถึง 80 ปี เรียกว่า อยู่ต่อไปอีกกว่า 20 ปี คิดดูว่า หากเลิกทำงานตอนอายุ 50 ปี เราจะอยู่อย่างไม่มีอะไรทำ
ทั้งยังยกตัวอย่างที่ประเทศเกาหลี รัฐบาลสนับสนุนให้คนสูงอายุทำธุรกิจส่วนตัว และเจ๊งง่ายๆ
รศ.ดร.วรเวศม์ บอกว่า หากเจ๊งตอนอายุ 20 ไม่เป็นไรสู้ใหม่ได้ ดังนั้นนโยบายการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำงาน มีคำถามใครควรเสี่ยงแบบไหน หนุ่มสาวควรเสี่ยง หรือผู้สูงอายุควรเสี่ยง หนุ่มสาวเสี่ยงแก้ตัวได้ เหมือนกับการเล่นหุ้น เล่นตอนแก่ เงินก้อนสุดท้ายหมดเกลี้ยงทำอย่างไร
“การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุให้ทำงานเป็นผู้ประกอบการลำบาก แต่หากสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำงานที่เดิมต่อไปจะดีกว่า เพราะเขาทำเป็นอยู่แล้ว ให้เขาทำซ้ำไปซ้ำมา หรือหางานไม่เสี่ยงมากให้ทำ ผู้สูงอายุยินดีทำแบบนั้นมากกว่า ส่วนผู้ประกอบการรัฐบาลก็ต้องมีการชดเชยให้ผู้บ้าง การจ้างด้วยเงินเดือนเดิม อาจไม่แฟร์กับผู้ประกอบการ หรือนายจ้าง ตรงนี้รัฐบาลต้องทำอะไรบ้างอย่าง” กรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เสนอ และคิดว่า ระบบบำนาญในเมืองไทย จะต้องผสมผสานกัน
บำนาญ มีจนเพียงพอใช้ และไม่ต้องทำอะไรเลย เขาเห็นว่า บางครั้งก็ว่าไม่ถูก รัฐอาจสนับสนุนเรื่องรายได้ชดเชยผู้ประกอบการที่มีการจ้างผู้สูงอายุทำงานต่อ เราต้องยอมรับสมรรถภาพการทำงานของผู้สูงอายุย่อมลดลง บำนาญแค่ให้ไม่ตกอยู่ในภาวะความยากจน ส่วนใครมีมากก็อาจออมมากได้บำนาญมาก ใครมีความรู้ก็อาจทำงานต่อไปสักนิด
รศ.ดร.วรเวศม์ ย้ำว่า เวลาพูดถึงนโยบายผู้สูงอายุลำบาก ตรงที่ว่า กำลังพูดถึงใคร รุ่นไหน เช่น ผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบัน อาจจะต้องใช้เงินภาษีมาช่วย ให้เขาทำอะไร เรียนรู้คงไม่ไหว แต่สำหรับคนอายุ 50 ปี อาจปรับตัว หรือใกล้อายุ 50 อาจมีการเตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว
“บำนาญพื้นฐาน ความเห็นผม ควรการันตีเส้นความยากจนด้านอาหาร ซึ่งอยู่ที่ 1,300 บาทต่อเดือน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ คำนวณไว้ ส่วนตัวเลข 2,400 บาทต่อเดือน รวมเรื่องอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น ที่อยู่อาศัย ของใช้ บำนาญพื้นฐาน อยู่ที่ 1,300 บาทต่อเดือน ผมก็ว่า รัฐบาลไหนก็หืดขึ้นคอ หาเงินมาก็ลำบาก”
นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ ระบุอีกว่า จริงๆ รัฐบาลใช้เงินกับเด็ก และสวัสดิการคนทำงานน้อยไป หากเทียบดูระหว่างกลุ่ม พบว่า รัฐบาลใช้เงินไปกับกลุ่มผู้สูงอายุเยอะมาก
“จริงอยู่เรื่องปัญหาผู้สูงอายุสำคัญ กำลังแรงงานลดสำคัญ ดังนั้นการมองเรื่องสวัสดิการ ควรมองแบบให้ความช่วยเหลือ “ครอบครัว” ซึ่งไม่ใช่มีแค่พ่อ แม่ ลูก แต่อาจมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีสามี แต่อยู่กับพ่อแม่ คนๆ นี้จะไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย ยอมรับชะตาชีวิตที่ต้องดูแลพ่อแม่ คนแบบนี้ก็ต้องการสวัสดิการ ไม่ใช่ตัวผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว
ประเด็นคือรัฐบาล รวมถึงผู้ประกอบการต้องเข้าไปช่วยคนทำงานตรงนี้ Support สักหน่อย เช่น เจ้านายยอมให้เขาลาพาพ่อแม่หาหมอ ลากิจ ลาดูแลพ่อแม่ สวัสดิการจากนายจ้างต้องคิดเรื่องพวกนี้ได้แล้ว”
เรื่องผู้สูงอายุ ขนาดรศ.ดร.วรเวศม์ ยังยอมรับตอนท้ายว่า ยาก และท้าทาย นี่จึงเป็นประเด็นปฏิรูป ที่สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.)พิจารณาข้อเสนอปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัยไปหมาดๆ