องค์การนิรโทษกรรมสากล จี้ผู้ก่อความไม่สงบหยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ร้องรัฐแก้ละเมิดสิทธิ์
องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) องค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ได้เผยแพร่รายงานชิ้นใหม่เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยหยุดทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์โดยทันที ขณะเดียวกันก็เร่งรัดให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
ในรายงานชิ้นใหม่ขององค์การนิรโทษกรรมสากลที่ชื่อว่า "พวกเขาไม่ได้เอาอะไรเลย นอกจากชีวิต : การฆ่าที่ผิดกฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย” มีรายละเอียดว่า ผู้ก่อความไม่สงบได้จงใจโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ อันได้แก่ เกษตรกร ครู เด็กนักเรียน ผู้นำศาสนา และข้าราชการพลเรือน หลายๆ เหตุการณ์การโจมตีเหล่านี้เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม (war crimes) มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 5 พันคน และบาดเจ็บอีกหลายพันคนใน 4 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ภายในเวลาเกือบ 8 ปี
“นับแต่สงครามกองโจรได้เริ่มขึ้น ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยกำลังแผ่ขยายอาณาจักรแห่งความกลัวท่ามกลางประชากรพลเรือน โดยการโจมตีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ ทำให้ไม่มีใครในพื้นที่ดังกล่าวนี้ปลอดภัยจากการโจมตี” ดอนนา เกสต์ รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคขององค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าว และว่า “ผู้ก่อความไม่สงบจะต้องประกาศออกมาอย่างแจ้งชัดว่าจะหยุดการกระทำ คือการสังหารโดยผิดกฎหมายเหล่านี้โดยทันที”
รายงานชิ้นดังกล่าวนี้ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง พยาน และญาติพี่น้องของเหยื่อรวม 154 รายระหว่างเดือน ต.ค.2553 ถึงเดือน ก.ค.2554 เกี่ยวกับการโจมตี 66 ครั้งของผู้ก่อความไม่สงบต่อพลเรือนใน 3 อำเภอ คือ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และ อ.ยะหา จ.ยะลา
รายงานยังยกกรณีวัยรุ่นอายุ 15 ปีที่ชื่อ ซาการียา วิลสัน อาชีพกรีดยางพารา ซึ่งถูกผู้ก่อความไม่สงบสังหารเมื่อเดือน ก.ย.2552 ขึ้นเป็นตัวอย่าง โดยพ่อของซาการียาบอกว่า "ไม่รู้เลยว่าทำไมต้องสังหารลูกชายของเขา เขาเป็นเด็กคนหนึ่งและเป็นเด็กดี ผู้ก่อความไม่สงบไม่ได้เอาอะไรจากตัวเขาเลยนอกจากชีวิต"
รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุอีกว่า ผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ทำการต่อสู้กับรัฐไทยพุทธมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 นับจากวันนั้นจนถึงเดือน มิ.ย.2554 ปรากฏว่าสองในสามของผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งคือพลเรือน และส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบคิดว่าคนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือปฏิเสธที่จะร่วมมือกับกลุ่มก่อความไม่สงบ
“ผู้ก่อความไม่สงบดูเหมือนว่าจะทำร้ายบุคคลซึ่งพวกเขากล่าวอ้างว่าต่อสู้เพื่อพวกเขา แต่ความคับข้องใจใดๆ ที่ผู้ก่อความไม่สงบมีอยู่ ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ และกระทำการที่รุนแรงเช่นนี้” ดอนนา เกสต์ กล่าว
เธอยังระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยหลายๆ ชุดที่ผ่านมาได้พยายามควบคุมการก่อความไม่สงบเหล่านี้ โดยมีนโยบายแตกต่างกันไป แต่ยังไม่มีนโยบายใดหรือรัฐบาลชุดไหนประสบความสำเร็จ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งหันมาสนใจปัญหาความไม่สงบใน 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งประชาชนต้องการความคุ้มครองอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี ดอนนา เกสต์ เห็นว่า ในภูมิภาคนี้มีวัฒนธรรมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด (impunity) ฉะนั้นการฆ่านอกกฎหมายทั้งมวล รวมทั้งที่เกิดจากการกระทำของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง จักต้องได้รับการสอบสวนและพิสูจน์ความจริงจากกระบวนการที่เป็นอิสระ
ขณะเดียวกันการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อตอบโต้ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะภายหลังการโจมตีฐานทหารใน จ.นราธิวาส ของผู้ก่อความไม่สงบเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่ง ปรากฏว่าผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 9 คนอ้างว่าถูกทรมานในระหว่างถูกคุมขัง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหา แต่ยังรวมถึงกรณีตากใบ (การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547) ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 78 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างถูกขนส่งไปยังค่ายทหาร
“ถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่งของรัฐบาลไทยที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าจะให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนคนไทย ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์การตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบก็จะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ด้วย” ดอนนา เกสต์ กล่าวในที่สุด
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล และสามารถอ่านรายงานฉบับภาษาอังกฤษได้ที่
http://www.amnesty.org/en/news-and-updates/report/thailand-insurgents-must-stop-war-crimes-against-civilians-2011-09-26