อาจารย์มหา’ลัย หนุนรัฐบาลแยกกระทรวงอุดมศึกษา
เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หนุนตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เชื่อทำให้การบริหารจัดการดำเนินไปได้ด้วยความชัดเจนมากขึ้น ระบุ หวั่นแค่เรื่องเดียว คือ ผลประโยชน์ทับซ้อน
วันที่ 10 เมษายน รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวถึงกรณี ที่คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.)การอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาต (สนช.) ได้นำร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ที่เสนอโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอรัฐบาลให้พิจารณา ว่า ศูนย์ประสานงานฯ ได้เคยสอบถามความคิดเห็นเรื่องนี้กับสมาชิก โดยส่วนใหญ่เห็นว่า การแยกกระทรวงอุดมศึกษา จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการอุดมศึกษาไทยมากกว่าผลเสีย แต่ก็มีข้อกังวลหลายอย่าง โดยเฉพราะอย่างยิ่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การแยกกระทรวงเพื่อหวังตำแหน่งหรือแย่งอำนาจกัน
รศ. ดร วีรชัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่า หลังจากมีการยุบทบวงมหาวิทยาลัยเก่า อุดมศึกษาไทยได้ตกต่ำลงหลายด้าน หากมีการแยกกระทรวงอุดมศึกษาจะทำให้การบริหารจัดการดำเนินไปได้ด้วยความชัดเจนและเข้าใจมากขึ้น การออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรกลุ่มใหญ่สุดในกระทรวงก็จะทำได้ง่าย เวลาพนักงานมหาวิทยาลัยไปประท้วง จะได้ไปได้ถูกที่ถูกทาง และที่สำคัญโครงสร้างบริหารกระทรวงต้องเขียนกฎหมายให้พนักงานมหาวิทยาลัยเข้าไปมีบทบาทได้ด้วย
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนใหญ่ที่กังวลในการตั้งกระทรวงใหม่ คือ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นกระทรวงใหม่ไม่ควรเป็นที่วางตำแหน่งหลังเกษียณอายุราชการของกลุ่มอธิการเก่า และคิดว่าการแยกกระทรวงครั้งนี้ รัฐบาลจะได้ประโยชน์มากกว่า และไม่ต้องเสียงบประมาณในการสร้างตึกอาคาร เพราะเพียงแค่ยุบ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อปรับเป็นกระทรวง ก็น่าจะทำได้ง่าย กลไกการเข้าไปบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาคุณธรรม ก็ทำได้ง่ายขึ้น